1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
กระทรวงเกษตรฯ คลายปมประเด็นสถานการณ์ยางพารา ย้ำเดินหน้าสร้างเสถียรภาพราคายาง มุ่งประโยชน์สู่วงการยางพาราทั้งระบบ
1 พ.ย. 2560
286
0
กระทรวงเกษตรฯคลายปมประเด็นสถานการณ์ยางพารา
กระทรวงเกษตรฯ คลายปมประเด็นสถานการณ์ยางพารา ย้ำเดินหน้าสร้างเสถียรภาพราคายาง มุ่งประโยชน์สู่วงการยางพาราทั้งระบบ

กระทรวงเกษตรฯ คลายปมประเด็นสถานการณ์ยางพารา ย้ำเดินหน้าสร้างเสถียรภาพราคายาง มุ่งประโยชน์สู่วงการยางพาราทั้งระบบ

          พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง กรณีสื่อนำเสนอประเด็นปัญหาราคายางพาราตกต่ำเหลือกิโลกรัมละ 40 บาท และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา ว่า ราคายางเป็นไปตามกลไกการตลาด จะปรับตัวขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อและขาย หากย้อนหลังไปในปี พ.ศ.2554 ราคายางพุ่งสูงขึ้นมากที่สุด เนื่องจากมีปริมาณความต้องการใช้ยางเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการเก็งกำไร ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ยางฟีเว่อร์ ทำให้ประเทศไทยและหลายๆประเทศมีการปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น ในช่วงปี 2553 – 2555 เพิ่มขึ้นประมาณ 11.9 ล้านไร่ ส่งผลให้สถานการณ์ผลผลิตยางพาราทั่วโลกออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ได้แก่ กัมพูชา ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 33.1 อินเดีย ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 21.0 และเวียดนาม ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3

          นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาสถานการณ์ราคายางในประเทศระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ระดับราคายางในประเทศมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับราคายางในตลาดล่วงหน้าทั้ง 3 ตลาดของต่างประเทศ (โตเกียว เซี่ยงไฮ้ ไซคอม) ที่มีการปรับตัวลดลงทุกตลาด นั่นหมายถึงไม่เพียงแค่ราคายางในประเทศเท่านั้นที่ปรับตัวลดลง แต่ราคาของตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าในต่างประเทศก็ปรับลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานโดยรวมของโลก และการซื้อขายทำกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั่วโลก นอกจากนี้ กยท. มีความพยายามลดความผันผวนของราคายางภายในประเทศผ่านมาตรการต่างๆ ได้แก่

          · มาตรการบูรณาการระหว่างรัฐกับเอกชน โดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด เป็นกลไกในการแก้ปัญหาราคาเพื่อให้เกิดเสถียรภาพซึ่งนำมาใช้ครั้งแรกในยุคนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการให้เกิดราคาอ้างอิงที่ดีขึ้นอย่างเป็นธรรมสำหรับการซื้อขายในตลาดภาคเอกชนทั่วทุกพื้นที่ ด้วยวิธีการเข้าซื้อยางในราคาชี้นำ ณ ตลาดกลางยางพารากยท.ทั้ง 6 แห่งหมุนเวียนสับเปลี่ยนกัน และบริษัทร่วมทุนฯ จะนำยางพาราที่ประมูลได้ในแต่ละครั้ง นำไปแปรรูปเพื่อจำหน่ายสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ และตลาดต่างประเทศต่อไป ทั้งนี้ ในช่วงดำเนินการเริ่มต้น จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น ในกรณีการขนย้ายยางออกนอกตลาดกลางหลังจากประมูลได้ จะต้องใช้ระยะเวลาและเอกสารในกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้เจตนารมณ์ในการผลักดันให้มีราคาอ้างอิงที่สูงขึ้นและเป็นธรรมสูงสุดทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง

          · มาตรการในการสร้างเสถียรภาพยางโดยเพิ่มกำลังซื้อและบริหารจัดการตลาดยางของ กยท.ซึ่งได้มีการกำหนดระเบียบตลาดยางพาราในการประมูลยางผ่านตลาดกลาง กยท. โดยมีการประกาศราคากลางเปิดการซื้อขายแต่ละวันทำการ (Spot market) จะทำให้การซื้อขายเป็นระบบและมีมาตรฐานในการอ้างอิงราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งการประมูลแบบนี้จะไม่สูงหรือต่ำกว่าราคากลางเกินกว่า2 บาท ตามดุลยพินิจแต่ละตลาด เพื่อผลักดันให้ราคายางมีเสถียรภาพ และลดปัญหาการปรับตัวขึ้นลงอย่างรุนแรง และที่สำคัญ ราคากลางที่ประกาศจากตลาดกลาง กยท. เป็นราคาที่ไม่รวมค่าขนส่ง และที่สำคัญ เรื่องคุณภาพ และน้ำหนักของยางชนิดต่างๆ ล้วนได้รับการตรวจสอบการคัดคุณภาพอย่างมาตรฐาน ผ่านกระบวนการซื้อขายที่เป็นธรรม และโปร่งใส สิ่งเหล่านี้ จะสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับจากผู้ซื้อยางทั้งในและต่างประเทศนอกจากนี้ ได้มีการเพิ่มทางเลือกแก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องการขายยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน สามารถขายผลผลิตผ่านตลาดประมูลยางล่วงหน้าของตลาดกลาง กยท. (Forward market) ซึ่งจะส่งมอบสินค้าจริงตามจำนวนและคุณภาพตามที่ตกลงไว้ ภายใน 7 วัน หลังการประมูลสิ้นสุด การพัฒนาระบบเหล่านี้ ทำให้ กยท.มีการปิดตลาดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการเพิ่มกำลังซื้อเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญการบริหารจัดการตลาดยางของ กยท.ให้มีมาตรฐาน เพื่อให้สินค้าที่มาจำหน่ายและจัดเก็บมีคุณภาพ ตลอดจนการบริการที่ให้ความสะดวก รวดเร็ว แก่ผู้มาใช้บริการทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยางโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มช่องทางพิเศษสำหรับสินค้าที่ผ่านมาตรฐาน GMP และจะลดขั้นตอนในเรื่องการคัดชั้นคุณภาพ

          · การตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ยางพารากยท.ได้จัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ยางพารา กยท. เพื่อเฝ้าติดตามข่าวสารยางพารา การซื้อขายยางพาราและสถานการณ์ราคายางผันผวน ให้ทั้งภาคเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางสามารถสื่อสารได้โดยตรง และการพัฒนาตลาดเครือข่าย ซึ่งมีสถาบันเกษตรกรรวบรวมผลผลิตยางพาราจากสมาชิกสามารถสมัครเป็นเครือข่ายของตลาดยางพารา กยท. ได้ โดยจะต้องให้บริการซื้อขายยางภายใต้กฎและข้อระเบียบที่ตลาดยางพารา กยท.กำหนดไว้ทั้งนี้ สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมเป็นตลาดเครือข่ายจะซื้อขายผลผลิตในราคาที่ประมูลเสมือนเป็นการขายที่ตลาดยางพารา กยท.ซึ่งจะเป็นเครื่องมือการตลาดที่สำคัญที่เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยจะสามารถขายผลผลิตได้ในราคาเป็นธรรม ขณะนี้ มีหลายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าสู่ระบบตลาดเครือข่ายแล้ว

          ในขณะที่ภาครัฐ มีนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนแก่ทุกภาคส่วนในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาอาชีพการทำสวนยาง ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าการใช้ยางให้มากยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นความต้องการใช้และส่งผลต่อราคายางในที่สุด ได้แก่

          · โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง สิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนกันยายน 2560 ซึ่ง กยท. ได้จ่ายเงินแก่เกษตรกรเจ้าของสวนยาง เป็นเงิน 6,436,077,525 บาท จำนวน 715,336 ครัวเรือน และจ่ายเงินแก่เกษตรกรคนกรีดยาง เป็นเงิน 4,094,461,350 บาท จำนวน 678,642 ครัวเรือน

          · โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพาราภายใต้แนวทางยางพาราทั้งระบบ มีกรอบวงเงินสินเชื่อเดิม 10,000 ล้านบาทขยายระยะเวลา โดยโครงการนี้ได้ขยายระยะเวลาไปจนถึง 31 มีนาคม 2563 โดยระยะเวลาจ่ายเงินกู้เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2560 ถึง 31 ธันวาคม 2562จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางมากยิ่งขึ้นมีสถาบันเกษตรกรรวม 367 แห่งเข้าร่วมโครงการสามารถรวบรวมและรับซื้อผลผลิตประมาณ 1.293 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 55.88 ล้านบาท

         · โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลสนับสนุนการชดเชยดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี จำนวนไม่เกิน 300 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายในการดูดซับน้ำยางออกจากระบบโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยให้ราคาอยู่ในระดับที่พึงพอใจของเกษตรกรมากขึ้น ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ พฤษภาคม 2560 – เมษายน 2562

          · โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาทซึ่งเป็นโครงการที่สามารถดูดซับปริมาณยางแผ่นในประเทศ ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย พร้อมกันนี้ กยท.ได้เสนอขอขยายเวลา การรับสมัครผู้เข้าร่วม “โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท”ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ต่อไป

          นโยบายในปีงบประมาณ 2561 มีการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ เพื่อสร้างเสถียรภาพราคา และสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้ปลูกยาง ภายใต้กลยุทธ์ 1 ลด 3 เพิ่ม

          ลด คือ  ลดพื้นที่ปลูกยางที่ไม่เหมาะสม เพื่อจำกัดปริมาณผลผลิตให้มีความสมดุลกับความต้องการใช้ จะส่งผลต่อราคายาง เป้าหมายปีละ 400,000 ไร่ โดย

          เพิ่ม1 คือเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางด้วยระบบการปลูกยางแบบผสมผสานตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งหมายถึง การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยาง ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกยางแบบผสมผสาน ปีที่ผ่านมา มีเกษตรกรชาวสวนยางที่โค่นยางแล้วปลูกใหม่จำนวน 42,036 ราย คิดเป็นพื้นที่ 422,728.50 ไร่ หันมาปลูกแบบผสมผสานมากยิ่งขึ้นประมาณร้อยละ 7 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมดที่โค่นยางแล้วปลูกใหม่ คิดเป็นจำนวน 3,043 ราย พื้นที่ 32,315.30 ไร่ นอกจากนี้ เกษตรกรชาวสวนยางที่ปลูกยางอยู่แล้ว ต้องการสร้างรายได้เสริม เช่น ปศุสัตว์ ประมง พืชผักสวนครัว พืชร่วมยาง เป็นต้น มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 521 ราย คิดเป็นเงิน 21,486,500 บาท

          เพิ่ม 2 คือ เพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศโดยภาครัฐนำร่องการนำยางพาราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปี 2561 นี้ หน่วยงานรัฐได้มีการแจ้งความประสงค์ในการนำยางไปใช้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แบ่งเป็นน้ำยางข้น จำนวน 9,916.832 ตัน ยางแห้ง จำนวน 1,132.3895 ตัน คิดเป็นเงินงบประมาณรวม 11,583,115,494.570 บาท ลดการพึ่งพิงการส่งออกในรูปแบบวัตถุดิบ มาเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ที่เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากทั้ง 3 ส่วนระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมมือกันสนับสนุนการใช้ยางในประเทศก็จะเป็นการเพิ่ม 3 คือเพิ่มรายได้ของคนในประเทศ มาจากมูลค่าเพิ่มที่ได้จากการแปรรูเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งการรณรงค์ใช้ภายในประเทศ และการส่งออกในรูปของผลิตภัณฑ์ยาง

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง