1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
14 ปี กองทุน FTA กระทรวงเกษตรฯ ตอกย้ำความสำเร็จ เดินหน้าช่วยเกษตรกรต่อเนื่อง
14 ก.ย. 2561
1,034
0
สศก. ชู 14 ปี กองทุน FTA กระทรวงเกษตรฯ ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าแล้ว 25 โครงการ รวม 785 ล้านบาท ภาพรวมการประเมินจากกระทรวงการคลังในรอบ 5 ปี ประสบผลสำเร็จในระดับดีมาก เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรต่อเนื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพสินค้า สร้างโอกาสในการแข่งขัน
14ปีกองทุนFTAกระทรวงเกษตรฯตอกย้ำความสำเร็จ
14 ปี กองทุน FTA กระทรวงเกษตรฯ ตอกย้ำความสำเร็จ เดินหน้าช่วยเกษตรกรต่อเนื่อง

วันที่ 14 กันยายน 2561

14 ปี กองทุน FTA กระทรวงเกษตรฯ ตอกย้ำความสำเร็จ เดินหน้าช่วยเกษตรกรต่อเนื่อง

 สศก.  ชู 14 ปี กองทุน FTA กระทรวงเกษตรฯ ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าแล้ว 25 โครงการ รวม 785 ล้านบาท ภาพรวมการประเมินจากกระทรวงการคลังในรอบ 5 ปี ประสบผลสำเร็จในระดับดีมาก เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรต่อเนื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพสินค้า สร้างโอกาสในการแข่งขัน

นายวิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่ากองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 จากการที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดการค้าเสรีทั้งในกรอบทวิภาคี และพหุภาคี  อาทิ เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ไทย-จีน ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์  ไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งการเปิดเขตการค้าเสรีดังกล่าวโดยรวมแล้วประเทศไทยได้รับประโยชน์ แต่เนื่องจากมีสินค้าเกษตรบางกลุ่มของไทยได้รับผลกระทบตามความสามารถในการแข่งขันของชนิดสินค้า ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 ให้จัดตั้งกองทุน FTA ขึ้น โดยมีเลขาธิการ สศก. เป็นประธานกองทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ปฏิรูปผลิตผลทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนการแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งช่วยเหลือให้เกษตรกรผลิตสินค้าให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น

สำหรับการดำเนินงานของกองทุนฯ จะจ่ายเงินช่วยเหลือการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะจ่ายขาดหรือเงินหมุนเวียน โดยเงินจ่ายขาด จะให้เฉพาะกรณีค่าใช้จ่าย ค่าปัจจัยการผลิตในกรณีทดลอง/สาธิต/นำร่อง  ค่าใช้จ่ายต่างๆ สำหรับงานวิจัยต้องเป็นการวิจัยประยุกต์  ค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ค่าบริหารโครงการไม่เกินร้อยละ 3 ส่วนเงินหมุนเวียน ให้กรณีค่าใช้จ่ายลงทุน ค่าก่อสร้างโรงเรือน/โรงงาน  ค่าเครื่องมืออุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการผลิต

ในส่วนของผู้ที่จะเสนอขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ จะต้องจัดทำโครงการ งานหรือกิจกรรม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมจากการเปิดเสรีทางการค้า (Free Trade Area: FTA) ซึ่งโครงการที่เสนอต้องเป็นโครงการช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับเกษตรกร มีความเป็นไปได้ทั้งการผลิตและการตลาดโดยใช้ตลาดนำการผลิตและคุ้มค่าในการลงทุน

ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมา กองทุนฯ ได้อนุมัติรวมทั้งสิ้นแล้ว 25 โครงการ ในหลายชนิดสินค้า อาทิ ข้าว โคเนื้อ โคนม ชา ปาล์มน้ำมัน สุกร กาแฟ และพืชผัก รวมทั้งยังมีสินค้าอีกหลายชนิด  รวมงบประมาณทั้งสิ้น 785 ล้านบาท ซึ่งผลจากการดำเนินงานกองทุนฯ ที่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรและหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้ามาอย่างต่อเนื่อง ทางกระทรวงการคลัง ได้ประเมินผลการดำเนินงานทั้งด้านการเงิน การปฏิบัติงาน การพัฒนาองค์กร และการสนองประโยชน์ผู้มีส่วนได้เสีย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า กองทุน FTA กระทรวงเกษตรฯ มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก ภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจมากกว่าร้อยละ 90 ต่อการให้บริการของกองทุน FTA มาโดยตลอด  ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า สามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุน FTA ได้ตลอด  โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ส่วนบริหารกองทุนภาคเกษตร โทรศัพท์ 0 2561 4727 หรือโทรสาร 0 2561 4726 และ www2.oae.go.th/FTA หรือ E-mail : fta@oae.go.th

***********************************

ข่าว  :  ส่วนประชาสัมพันธ์  / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร

 

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง