1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
“กฤษฎา” สั่งทุกหน่วยเร่งสานต่อเกษตรแปลงใหญ่ยึดตลาดนำผลิต พร้อมตั้งชุดปฎิบัติการเกษตรประจำพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เพื่อลงไปดูแลแนะนำช่วยเหลือเกษตรกร หนุนเกษตรกรร่วมโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่เพื่อทดแทนการปลูกยาง
15 ม.ค. 2561
1,111
0

“กฤษฎา” สั่งทุกหน่วยเร่งสานต่อเกษตรแปลงใหญ่ยึดตลาดนำผลิต พร้อมตั้งชุดปฎิบัติการเกษตรประจำพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เพื่อลงไปดูแลแนะนำช่วยเหลือเกษตรกร หนุนเกษตรกรร่วมโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่เพื่อทดแทนการปลูกยาง

          นายกฤษฎา  บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ระยะต่อไป ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และผู้บริหารทุกหน่วยงาน กำหนดแนวทางการบริหารหรือนำนโยบายดังกล่าวข้างต้นไปดำเนินการในพื้นที่ให้ต่อเนื่องและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญได้ขอให้เพิ่มเติมโดยนำหลักคิดในเรื่องการตลาดนำการผลิตทางการเกษตรไปดำเนินการด้วย โดยกำหนดให้จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด (อ.พ.ก.)ที่มีรองผู้ว่าราการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อมอบหมายให้คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด  ซึ่งมีเกษตรจังหวัดเป็นหัวหน้าทีมนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเร่งดำเนินการใน 3 ขั้นตอน คือ 1. สำรวจข้อมูลเกษตรแปลงใหญ่ขนาดตั้งแต่ จำนวน 50 ไร่ขึ้นไปทั้งในส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และยังไม่มีแผนการผลิตและแผนการตลาดอย่างครบ มีจำนวนกี่แปลง ชนิดพืชหรือทำการเกษตรประเภทอะไรเป็นส่วนใหญ่ มีการรวมตัวกันจดทะเบียนกลุ่มหรือวิสาหกิจชุมชนหรือสมาชิกสหกรณ์การเกษตรแล้วหรือไม่อย่างไร 2.วิเคราะห์แผนการผลิต แผนการตลาดว่า มีปัญหาหรือจุดอ่อนในเรื่องอะไรที่เกินขีดความสามารถของหน่วยงานในพื้นที่ที่จะแก้ไขได้ และต้องการขอรับการสนับสนุนจากส่วนกลางในเรื่องอะไรบ้าง 3.ตั้งชุดปฎิบัติการเกษตร(ชป.กษ.)ประจำพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่จากทุกหน่วยงานกษ.เพื่อลงไปดูแลแนะนำช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดหาแหล่งนำ้ การวิเคราะห์ตรวจคุณภาพดินเพื่อหาสารอาหารหรือแร่ธาตุในดิน การแนะนำเลือกพืชหรือสัตว์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ หรือความต้องการของตลาด การเลี้ยงสัตว์น้ำ การดูแลป้องกันโรคพืช โรคสัตว์ แนะนำการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิต ฯลฯ

 

          2.ขอให้นำข้อมูลข้างต้นนำเสนอในที่ประชุมระหว่างคณะอนุกรรมการฯ จังหวัด (อ.พ.ก.) กับหน่วยงานรัฐและเอกชนด้านการตลาดซึ่งได้แก่พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ธกส.หรือหน่วยราชการที่รับซื้อสินค้าการเกษตรไปใช้ในหน่วยงานเช่นโรงเรียน โรงพยาบาล หรือชมรมธนาคารจังหวัดหรือหอการค้าหรือสภาอุตสาหกรรมจังหวัดรวมทั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดให้มาร่วมกันพิจารณารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่หรือร่วมวางแผนการตลาดให้แก่กลุ่มเกษตรกรหรืออาจให้มีการตกลงจับคู่ค้าขายกันตามพันธะสัญญาที่เป็นธรรมระหว่างกลุ่มเกษตรกรสมาชิกเกษตรแปลงใหญ่หรือวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตรกับภาคเอกชนผู้ค้าปลีก ค้าส่งหรือส่งออกประเทศ บริษัท ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค หรือร้านค้าสะดวกซื้อซึ่งมีสาขาอยู่ในจังหวัดต่างๆ

           สำหรับพื้นที่ที่มีการปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก และมีปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำนั้น กระทรวงเกษตรฯ จะเริ่มใช้มารการแก้ไขปัญหายางพารายางยั่งยืน โดยขอให้คณะอนุกรรมการฯ จังหวัด (อ.พ.ก.) มอบให้คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัดเป็นหน่วยดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิญชวนเกษตรกรชาวสวนยาง ที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่เพื่อทดแทนการปลูกยางซึ่งมีหลักการรองรับการพัฒนาอาชีพปลูกยางพารา คือ (1) การเปลี่ยนอาชีพจากการทำสวนยางมาทำเกษตรกรรมใหม่ ที่มีตลาดรองรับหรือมีโอกาสที่เกษตรกรจะรายได้มากกว่าการทำสวนยาง  (2) เกษตรกรที่จะเข้ารวมโครงการต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มและมีสวนยางหรือแปลงยางติดกันหรือใกล้เคียงกันในตำบลหรือหมู่บ้านเดียวกัน โดยมีขนาดเนื้อที่รวมกันตั้งแต่ 50 ไร่ขึ้นไป คล้ายหลักการในโครงการเกษตรแปลงใหญ่  (3) สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรกรรมใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพทำสวนยางมาทำเกษตรกรรมใหม่ ทางราชการจะรับผิดชอบดูแลสนับสนุนปัจจัยการผลิตและการตลาดรวมทั้งหาอาชีพเสริมในช่วงรอผลผลิตทางการเกษตรกรรมใหม่ที่จะขายได้ด้วย  ขณะเดียวกัน จะต้องรวบรวมรายชื่อเกษตรกร และจำนวนพื้นที่แปลงสวนยางที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่ว่า แต่ละจังหวัดมีจำนวนพื้นที่แปลงใหญ่กี่แปลง แต่ละแปลงมีขนาดพื้นที่กี่ไร่ และกลุ่มเกษตรกรเจ้าสวนยางเหล่านั้นมีการจดทะเบียนกลุ่ม/วิสาหกิจหรือเป็นสมาชิกสหกรณ์หรือไม่

          “ผมได้มอบหมายให้ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กำหนดมาตรการและวิธีการให้ ผต.กษ.ระดับกระทรวงและระดับกรม เป็นคณะทำงานตรวจแนะนำและติดตามการดำเนินการของจังหวัดประจำพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัดว่า มีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการของจังหวัดและอำเภออย่างไร หรือไม่ เพื่อรวบรวมรายงานให้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ทราบ ซึ่งผมหน้าที่เป็นประธาน เพื่อจะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับมาประสานงานกับหน่วยงานรัฐและเอกชนในส่วนกลาง ที่จะได้ให้การสนับสนุนหรือแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ถูกต้องต่อไป” นายกฤษฎา กล่าว

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง