1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
กรมวิชาการเกษตรจัดประชุมคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช
19 ม.ค. 2561
896
0
กรมวิชาการเกษตรเชิญประชุมคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชพิจารณาเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ 23 ฉบับ ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช กำหนดชนิดพืชที่พันธุ์พืชใหม่ขอรับความคุ้มครอง 14 รายการ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการเลือกใช้พันธุ์ที่ดีและเหมาะสม
กรมวิชาการเกษตรจัดประชุมคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช
กรมวิชาการเกษตรจัดประชุมคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช

     นายสัตวแพทย์ธนิต อเนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ครั้งที่ 1/2561 ว่า กรมวิชาการเกษตรโดยสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชขึ้น เนื่องจากมีวาระการประชุมสำคัญที่จะต้องพิจารณาหลายเรื่อง อาทิ ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า การเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพืชใหม่ จำนวน 23 ฉบับ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดชนิดพืชที่พันธุ์พืชใหม่สามารถขอรับความคุ้มครอง จำนวน 14 รายการ ดังนี้ ไผ่ มะพร้าว พืชสกุลยาสูบ พืชสกุลหญ้านวลน้อย พืชสกุลกาแฟ พืชสกุลกุหลาบ พืชสกุลดาวเรือง กระเจี๊ยบเขียว อะโวคาโด กล้วยไม้สกุลซิมบิเดียม กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี พืชสกุลบานชื่น อินทผาลัม และพืชสกุลหน้าวัว

     รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชแล้ว การดำเนินงานของกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช จะดำเนินไปตามแผนงานที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ที่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงการคลัง เช่น แผนการจัดอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชและแนวทางการดำเนินงานของกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชให้กับชุมชน และเกษตรกร เพื่อให้มีความรู้ด้านกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์พันธุ์พืช นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการรวบรวมข้อมูลชุมชนที่มีการอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นเมือง ซึ่งหากมีคุณสมบัติเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ชุมชนสามารถยื่นจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นได้โดยชุมชนเป็นเจ้าของ สำหรับประเด็นที่ว่าเมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่แล้ว อนุกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่มีหน้าที่ยกร่างกฎหมายลำดับรอง เช่น ประกาศ กฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เสนอชนิดพืชให้เป็นพันธุ์พืชใหม่ที่จะได้รับการคุ้มครองเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร นักปรับปรุงพันธุ์ คิดค้นพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ๆ ด้วยการให้สิทธิความเป็นเจ้าของ ส่งผลให้มีพันธุ์พืชที่หลากหลายให้เกษตรกรได้เลือกใช้ และเมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่าแล้ว ชุมชนที่มีพันธุ์พืชที่มีคุณสมบัติเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นและต้องการจดทะเบียนจะต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการชุดนี้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชพิจารณาเห็นชอบต่อไป

     นางสาวศิริพร บุญชุ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในประเด็นที่จะมีการเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ 23 ฉบับนั้น เป็นการเพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพืชใหม่ เนื่องจากผู้ทรงสิทธิไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ทั้งนี้ ขณะที่พันธุ์พืชใหม่มีการคุ้มครองอยู่ เกษตรกร ประชาชน สามารถปลูกขายผลผลิตและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ต่อพันธุ์ในฤดูถัดไปได้ รวมถึงนำพันธุ์ใหม่นั้นไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา วิจัยต่อยอดได้อย่างเสรี เพียงแต่ห้ามมิให้ผลิตขายเป็นส่วนขยายพันธุ์หากไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิ ส่วนพันธุ์พืชใหม่ที่ถูกเพิกถอนสิทธิคุ้มครองแล้ว เกษตรกร ประชาชนทั่วไป จะสามารถปลูกขาย ผลผลิต เก็บพันธุ์ไว้ปลูกและผลิตขายเป็นส่วนขยายพันธุ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย โดยที่หากเป็นชนิดพืชที่เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จะต้องขออนุญาตผลิตเพื่อขายจากกรมวิชาการเกษตรด้วย ในประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับการกำหนดชนิดพืชที่พันธุ์พืชใหม่สามารถขอรับความคุ้มครอง 14 รายการแล้ว จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อนักปรับปรุงพันธุ์พืช เกษตรกร นักวิจัย ที่ปรับปรุงพันธุ์ใหม่ในพืชทั้ง 14 ชนิดดังกล่าว สามารถยื่นจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้ และจะได้รับสิทธิความเป็นเจ้าของในพันธุ์พืชของตนเอง ทำให้เกิดความหลากหลายของพันธุ์พืชในตลาดการค้า เป็นทางเลือกของเกษตรกรในการเลือกใช้พันธุ์ที่ดีและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สภาพแวดล้อม และตามความต้องการของตลาดเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรต่อไป 

 

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง