1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
“อาจารย์ยักษ์” บรรยายพิเศษแนะผู้บริหารราชการระดับสูงภาครัฐ มุ่งเรียนรู้และเข้าถึงหลักการบริหารราชการแผ่นดินตามศาสตร์พระราชา เน้นสามัคคีแก้ปัญหาชาติ
23 ม.ค. 2561
544
0
“อาจารย์ยักษ์”บรรยายพิเศษแนะผู้บริหารราชการระดับสูงภาครัฐ
“อาจารย์ยักษ์” บรรยายพิเศษแนะผู้บริหารราชการระดับสูงภาครัฐ มุ่งเรียนรู้และเข้าถึงหลักการบริหารราชการแผ่นดินตามศาสตร์พระราชา เน้นสามัคคีแก้ปัญหาชาติ

“อาจารย์ยักษ์” บรรยายพิเศษแนะผู้บริหารราชการระดับสูงภาครัฐ มุ่งเรียนรู้และเข้าถึงหลักการบริหารราชการแผ่นดินตามศาสตร์พระราชา เน้นสามัคคีแก้ปัญหาชาติ

                   นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือที่รู้จักกันในนาม “อาจารย์ยักษ์” กล่าวในโอกาสเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในงานสัมมนานักบริหารระดับสูงเพื่อการบูรณาการการพัฒนาประเทศไทย 4.0 ในหัวข้อ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา: ศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงาน ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี มีนักบริหารระดับสูง อาทิ ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองปลัดกระทรวง ผู้ตรวจราชการกระทรวง อธิบดี รองอธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด กรรมการข้าราชการพลเรือน ปลัดกรุงเทพมหานคร และรองปลัดกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมสัมมนารวม 850 คน ว่า  การบรรยายในครั้งนี้เพื่อให้ผู้บริหารส่วนราชการได้เรียนรู้หลักการบริหารราชการแผ่นดินตามศาสตร์พระราชา        ให้เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา และนำไปเป็นหลักการบริหารราชการให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชาที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก เป็นแบบอย่างให้แก่ข้าราชการในการเรียนรู้และเข้าถึงปัญหาของราษฎร แม้ข้าราชการยุคนี้จะทำงานหนัก แต่เมื่อหันกลับไปมองการทรงงานของพระองค์ท่าน จะพบว่าพระองค์ทรงงานหนักมากเพื่อคนไทยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยมาตลอด 70 ปี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปยังพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและแห้งแล้งทุรกันดารและพัฒนาจนกลายเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ซึ่งในช่วงเวลานั้นแม้หนทางจะลำบากแค่ไหนพระองค์ก็เสด็จเข้าไปถึงและหาแนวทางฟื้นฟูธรรมชาติให้สมบูรณ์ขึ้นจนได้

                   ทรงเป็นแบบอย่างให้แก่นักบริหารและข้าราชการในการเข้าถึงปัญหาของราษฎรอย่างแท้จริง ผ่านโครงการพระราชดำริกว่า  4,500 โครงการ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยยึดการพัฒนาต้องทำเป็นขั้นตอน ทำพื้นฐานให้มั่นคงเสียก่อนแล้วจึงค่อยก้าวหน้า ที่สำคัญการพัฒนาต้องเหมาะสมกับฐานะและกำลังของประเทศเราซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ทรงให้ความสำคัญกับแนวคิดทฤษฎี 4 ส่วน คือ น้ำ ป่า ดิน และคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาคนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ประเทศชาติอยู่ได้อย่างยั่งยืน ทรงออกแบบแนวคิดการจัดการพื้นที่เพื่อการจัดการ ดิน น้ำ ป่า อย่างบูรณาการ สามารถนำไปประยุกต์เพื่อแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้นและหมอกควันที่กำลังเป็นปัญหาหนักอยู่ในปัจจุบัน โดยต้องเริ่มที่การพัฒนา  “คน” ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเกษตรในการลดพื้นที่เพาะปลูกโดยที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ดังนั้น นักบริหารควรขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาโดยพัฒนาที่ประชาชนเป็นแกน และบูรณาการร่วมกับภาคีอื่น ๆ เพื่อเสริมกลไกเดิมของรัฐที่มีอยู่แล้ว โดยขับเคลื่อนเป็น 3 ระดับ คือ ระดับท้องถิ่น/ชุมชน ระดับชาติ  และระดับจังหวัด ใช้พลังจากการประสานกลไกการมีส่วนร่วม 7 ภาคส่วน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวล และภาคศาสนา ด้วยความสามัคคีกันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยยึดแนวทาง “อะลุ้มอล่วย” กัน เหมือนเมื่อครั้งเกิดสงครามในประเทศจีนมีการสู้รบกันทางความคิด ระหว่างเสรีนิยม และคอมมิวนิสต์ คนกลุ่มหนึ่งอพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย  พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปพบปะพูดคุยและบอกกลุ่มคนเหล่านั้นว่า มาอยู่ในประเทศไทยได้ แต่อย่าปลูกฝิ่น เราจะช่วยกันทำอาชีพอื่นๆ ที่สร้างรายได้ โดยที่ไม่ต้องไปปลูกฝิ่นและทำลายป่าต้นน้ำของไทย จะเห็นว่า พระองค์ไม่ได้ใช้กฎหมายเป็นหลักในการเจราจา แต่ใช้ความรักความเมตตาในการชักชวนคนที่ทำผิดกฎหมายให้กลับมาประกอบอาชีพที่สุจริต

                   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงยอมรับความแตกต่างทางความคิดของประเทศเสรีนิยม และประเทศคอมมิวนิสต์เป็นอย่างดี เมื่อเกิดความขัดแย้งในระดับโลกทางด้านเศรษฐกิจ ทรงเสนอแนวทางใหม่คือ “ความพอเพียง” ไม่ได้มุ่งเน้นกำไรสูงสุด หรือการกระจายรายได้ซึ่งมีตัวชี้วัดเป็นตัวเงิน แต่มุ่งเน้น “ความพอเพียง” โดยเริ่มจากทำให้ “พอมี พอกิน” ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้คนไทยอยู่รอดได้ ทรงไม่ปฏิเสธความรุ่งเรือง หรูหราแต่ต้องอยู่บนความไม่ประมาท ทรงย้ำเตือนให้ข้อคิดว่า ไทยไม่ควรเป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก ก็มีแต่จะถอยหลังอย่างน่ากลัว ถ้าเรามีการบริหารแบบที่เรียกว่า “แบบคนจน” ที่ไม่ยึดติดกับตำรามากเกินไปก็จะอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเมตตาและความสามัคคีตลอดไป

                   “นักบริหารต้องรักษาความเป็นข้าราชการที่ดีให้เป็นตัวอย่างแก่ข้าราชการรุ่นหลัง ต้องเป็นผู้นำที่มีความรู้ดี มีสัจจะ มีความเสียสละ ใช้เหตุผล อดทนต่อหน้าที่ ทั้งหน้าที่ทางยุทธศาสตร์และการปฏิรูป ประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาของการทำงานหนัก จึงขอให้นักบริหารทุกคนยึดมั่นการทำงานเพื่อประเทศชาติ ด้วยการสร้างพลังความสามัคคีกับประชาชนและทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการสร้างสรรค์และแบ่งปัน ถ้ามุ่งแต่พัฒนาโดยยึดแต่กิเลสจะไม่สามารถกอบกู้ประเทศได้ จึงควรยึดหลักธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน ควบคู่กับความรู้ 2 สิ่งนี้จะนำพาประเทศไปสู่ความยั่งยืน ศาสตร์ของพระราชาองค์นี้มีมากมาย นักบริหารควรศึกษาศาสตร์ของพระองค์ท่าน และร่วมกันสนองงานตามพระราชดำริของพระองค์ พร้อมทั้งสามัคคีร่วมกันเพื่อให้ประเทศเกิดความมั่งคั่งและยั่งยืนถึงลูกหลานต่อไป” นายวิวัฒน์ กล่าว

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง