นายสืบศักดิ์ จินดาพล
20 ก.ค. 2560
4,389
2,025
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ปี 2558
นายสืบศักดิ์ จินดาพล
นายสืบศักดิ์ จินดาพล

นายสืบศักดิ์ จินดาพล ได้เริ่มดำเนินงานด้านการเกษตรตั้งแต่เรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี  เมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยรับกิจการต่อจากบิดา     ซึ่งดำเนินกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การทำสวนยางพารา  สวนมะพร้าว  สวนป่า  สวนผลไม้ผสมผสาน  เลี้ยงไก่  เลี้ยงหมูบ้าน-หมูป่า การเลี้ยงวัว-เลี้ยงควาย โดยนำความรู้ที่ได้ศึกษากลับมาพัฒนาในพื้นที่การเกษตรของตนเอง เริ่มจากการสร้างงานให้แก่คนในท้องถิ่น ในรูปแบบของการรณรงค์ให้ชุมชนร่วมกันสร้างผลผลิตทางการเกษตรให้ได้มาตรฐาน และรักษาคุณภาพควบคู่ไปกับการผลิต เพื่อเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

อายุ             54 ปี

การศึกษา      ระดับปริญญาตรี

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน

                   วิชาเอก ฟิสิกส์ วิชาโท คณิตศาสตร์

                   ระดับ ปวส. คณะโปลีเทคนิค จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม

                   ระดับ ปวช. แผนกช่างยนต์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต

                   มัธยมศึกษา ม.ศ.1-3 จากโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย

                   ระดับประถมศึกษา ป.5 – ป 7 จากโรงเรียนถลาง

                   ระดับประถมศึกษา ป.1-ป.4 จากโรงเรียนโคกกลอยวิทยา

สถานภาพ     สมรส มีบุตร ธิดา 3 คน ชาย 2 คน หญิง 1 คน

ที่อยู่             14/3  หมู่ที่ 3  ตำบลโคกกลอย  อำเภอตะกั่วทุ่ง  จังหวัดพังงา 

โทรศัพท์       076-581-190,081-270-6969

อาชีพ           เกษตรกรและกำนันตำบลโคกกลอย

รางวัลที่ได้รับ

          พ.ศ. 2558 ได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย

พ.ศ. 2556 ได้รับรางวัล 1 ใน 8 สถาบันเกษตรกรของประเทศ ในการประกวดการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรของ  กรมส่งเสริมการเกษตร

          พ.ศ. 2555 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ รางวัล “สิงห์ทอง” ศูนย์ประสานองค์กรชุมชนดีเด่น ระดับจังหวัด กระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน

          พ.ศ. 2553     

(1) ได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบจังหวัดพังงา ระดับ “พออยู่พอกิน”

(2) ได้รับรางวัลชมเชย ในการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรดีเด่น ระดับภาคใต้ กรมส่งเสริมการเกษตร

(3) ได้รับรางวัล “กำนันยอดเยี่ยม” ระดับประเทศ

พ.ศ. 2551 ได้รับเกียรติบัตร คณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยี

การเกษตรประจำตำบล จังหวัดพังงา

พ.ศ. 2549 ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับจังหวัดในการประกวดการดำเนินงานของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล กรมส่งเสริมการเกษตร

          พ.ศ. 2547 ได้รับรางวัลที่ 2 ในการประกวดกลุ่มเกษตรกรดีเด่น กรมส่งเสริมการเกษตร

          พ.ศ. 2546

          (1) ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดกลุ่มเกษตรกรดีเด่น งาน ประกวดเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด กรมส่งเสริมการเกษตร

          (2) ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดผลการดำเนินงานศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลโคกกลอย จากระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          (3) ได้รับรางวัลที่ 2 การประกวดกลุ่มเกษตรดีเด่น สาขาทำสวน ระดับเขต สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดสงขลา

          พ.ศ. 2542 ได้รับรางวัลที่ 2 ในการประกวดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรประจำตำบล สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา

ชีวิตที่พอเพียง

        นายสืบศักดิ์ ได้เริ่มดำเนินงานด้านการเกษตรตั้งแต่เรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี  เมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยรับกิจการต่อจากบิดา ซึ่งดำเนินกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การทำสวนยางพารา  สวนมะพร้าว  สวนป่า  สวนผลไม้ผสมผสาน  เลี้ยงไก่  เลี้ยงหมูบ้าน-หมูป่า การเลี้ยงวัว-เลี้ยงควาย โดยนำความรู้ที่ได้ศึกษากลับมาพัฒนาในพื้นที่การเกษตรของตนเอง เริ่มจากการสร้างงานให้แก่คนในท้องถิ่น ในรูปแบบของการรณรงค์ให้ชุมชนร่วมกันสร้างผลผลิตทางการเกษตรให้ได้มาตรฐาน และรักษาคุณภาพควบคู่ไปกับการผลิต เพื่อเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

นายสืบศักดิ์ เป็นผู้อุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับการช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก เป็นแบบอย่างในการสร้างจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นในเรื่องของการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์แหล่งน้ำของชุมชน การรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชผสมผสาน ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นการป้องกันและลดปัญหาการขาดรายได้เมื่อถึงฤดูที่ราคาผลผลิตตกต่ำ ลดปัญหาสินค้าล้นตลาด และยังได้พัฒนากลุ่มเกษตรกรทำสวนให้มีความมั่นคง สามารถสร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งด้านอาชีพให้เกิดขึ้นในชุมชน

ความพอประมาณ

เป็นบุคคลที่น้อมนำเอาหลักการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติ ทั้งที่ฐานะทางการเงินของสืบศักดิ์ฯ สามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่แบบหรูหราได้อย่างสุขสบาย แต่ก็ไม่เคยประพฤติตนหรือใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด ซึ่งภาพลักษณ์ของนายสืบศักดิ์ฯ ที่ปรากฏแก่สายตามประชาชนทั่วไปและเป็นภาพที่ติดตาคนทั่วไป คือ ภาพลักษณ์การแต่งกายด้วยเสื้อม่อฮ่อม ผ้าไทยใส่รองเท้าแตะ อยู่เป็นนิจ ถึงแม้ว่าจะเป็นบุคคลที่มีฐานะทางการเงินดีทั้งตนเองและครอบครัว แต่ก็อยู่อย่างสมถะไม่เคยอวดความร่ำรวย ถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต ในพื้นที่บริเวณรอบบ้านพักอาศัยก็ยังมีการปลูกพืชผักไว้รอบ ๆ เพื่อการบริโภค เป็นผู้ที่มีภาวะผู้นำ คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ดูแลคนรอบข้างตลอดเวลา 

ความมีเหตุผล

เป็นผู้ที่ประกอบสัมมาอาชีพ ใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและชุมชนตลอดระยะเวลา 31 ปี โดยการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืชหลากหลายชนิด เลี้ยงสัตว์    สร้างรายได้ให้กับครอบครัวรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งดเว้นการใช้สารเคมีทุกชนิดเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกร รณรงค์ให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพแทนสารเคมีตลอดเวลา เป็นบุคคลที่ไม่มีหนี้สินใด ๆ เมื่อครอบครัวตนเองมีฐานะมั่นคงแล้วเอื้ออาทรต่อผู้อื่น  เอาใจใส่ ช่วยเหลือผู้อื่นตลอดมา 

การมีภูมิคุ้มกันที่ดี

เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สร้างฐานะ ส่งเสียบุตร ธิดาเรียนหนังสือจนจบการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท และศึกษาต่อต่างประเทศ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหรา มีเงินเก็บออม   ไม่เป็นหนี้ต่อสถาบันการเงินใดๆ สอนแนะสมาชิกและบริหารจัดการให้กลุ่มเกษตรกรทำสวนโคกกลอยใช้เงินทุนภายใน ไม่ให้เป็นหนี้บุคคลภายนอก สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เดือดร้อน ไม่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดก็ตาม จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการดำเนินงานของกลุ่มฯ 

ความรอบรู้

นายสืบศักดิ์ นอกจากได้ร่ำเรียนวิชาการประกอบอาชีพทางการเกษตรจากบิดา-มารดา  แล้วยังได้ศึกษาวิชาด้านฟิสิกส์ จึงได้นำเอาวิชาการมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิต เช่น การสร้างพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ การผลิต แก๊ซชีวภาพจากมูลของสุกร เป็นต้น เป็นบุคคลที่ศึกษาเรียนรู้ ทั้งวิชาการ     ด้านเทคโนโลยี และการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง เข้าร่วมประชุม อบรม กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นประจำ 

ความมีคุณธรรมตามหลักศาสนา

นายสืบศักดิ์ ยึดหลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธในการดำเนินชีวิต รักษาศีล 5 เป็นนิจไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ กตัญญูต่อบุพการี มีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนมนุษย์ ทำบุญทำทานเป็นนิจ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญตามประเพณีหรือวันสำคัญทางศาสนา เช่น ประเพณีวันสงกรานต์ จะจัดกิจกรรมรดน้ำขอพรผู้ใหญ่เป็นประจำทุกปี วันเข้าพรรษา-วันออกพรรษา มีการจัดกิจกรรมตักบาตรเทโว สืบสานประเพณีลอยแพที่เป็นประเพณีเก่าแก่ของท้องถิ่น

ผลงานที่สร้างคุณประโยชน์

นายสืบศักดิ์ มีแนวคิดในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพการเกษตร ทั้งในด้านเกษตรกรรมและด้านการประมง จึงศึกษาหาวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการถูก      เอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ทั้งในเรื่องของการรับซื้อสินค้าในราคาต่ำกว่าทุน การกดราคาจากผลผลิตที่ขาดคุณภาพ    โดยเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกให้เกษตรกรเข้าใจบทบาทของการมีส่วนร่วม ช่วยเหลือดูแลตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  สร้างอำนาจต่อรองในการจัดจำหน่ายผลผลิตให้ได้ราคาสูง ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำการผลิตสินค้าทางการเกษตรให้ได้คุณภาพ นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างสอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของสมาชิกในชุมชนและยังสามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดผลในรูปแบบที่ยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน

ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ได้แก่ การขับเคลื่อนกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบของสหกรณ์ โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการรวบรวมผลผลิตด้วยวิธีการที่ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด โดยแฝงวิธีการสร้างจิตสำนึกการเก็บออมแก่เกษตรกร พัฒนาประสิทธิภาพและถ่ายทอดความรู้ในการผลิตยางพาราให้แก่เกษตรกรซึ่งช่วยแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำและด้อยคุณภาพ  เป็นแบบอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรแบบผสมผสาน  สร้างผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย และใช้พื้นที่เกษตรกรรมของตนให้ผู้สนใจทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้

การขยายผลงาน

นายสืบศักดิ์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำชุมชนที่ได้รับความเชื่อถือ เคารพ ศรัทธาจากเกษตรกรในตำบลโคกกลอยและกลุ่มสมาชิกเครือข่ายอย่างกว้างขวาง จากผลงานที่สร้างสรรค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ชุมชน จนประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยทำการถ่ายทอดขยายผลงานผ่านการบรรยาย แนะนำให้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ในพื้นที่ การรวมกลุ่มเพื่อถ่ายทอดและขยายผลงาน สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่สมาชิก มีการสร้างเยาวชนให้เรียนรู้การบริหารจัดการกลุ่มโดยสอนวิธีการบริหารจัดการให้กับลูกหลานของสมาชิกในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ประสานงานกับกลุ่มเครือข่ายและองค์กรในการเสนอข้อคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการดำเนินงาน ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ อีกทั้งยังมีผลงานเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งสิ่งพิมพ์ วีดีทัศน์ และงานวิจัย

ตกลง