นายสุพงษ์ วรวงษ์
2 พ.ค. 2559
53
0
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ปี 2557
นายสุพงษ์ วรวงษ์
นายสุพงษ์ วรวงษ์

นายสุพงษ์ วรวงษ์ มีประสบการณ์ในการทำงานภาคเกษตรกรรมมากว่า 18 ปี โดยหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในช่วงแรกได้ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์พิเศษสอนในสถาบันการศึกษา ต่อมาได้ปฎิบัติงานในตำแหน่ง นักวิชาการสัตวบาล ผู้ช่วยนักวิจัยประมง นักวิชาการฟาร์ม มาตามลำดับ หลังจากได้สั่งสมประสบการณ์ในการทำงานด้านต่างๆ  นายสุพงษ์จึงได้แนวคิดที่จะทำกิจการฟาร์มของตัวเองตามความถนัด โดยมีแรงจูงใจจากการสังเกตวิถีชีวิตคนในชุมชนอำเภอมัญจาคีรี ซึ่งชอบบริโภคปลาสดเป็นอาหารหลัก และในอำเภอมัญจาคีรีเป็นที่ตั้งของโครงการพระราชดำริฯ บึงกุดเค้า ในพื้นที่ประมาณ 7,000 ไร่ ทำให้มีแหล่งน้ำที่สำคัญในการดำเนินกิจกรรมได้เป็นอย่างดี จึงได้ก่อตั้ง “บุญโฮมฟาร์ม” และได้นำประสบการณ์ความรู้มาประยุกต์ใช้และปรับปรุงพันธุ์ปลา จนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถผลิตปลานิลแปลงเพศรายแรกของภาคอีสาน  

นายสุพงษ์  ได้เริ่มต้นทำกิจการฟาร์มตามกำลังทรัพย์และศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ ใช้แรงงานในท้องถิ่นเป็นหลัก  ซึ่งเห็นว่าจะสามารถช่วยลดปัญหาการย้ายแรงงานเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนมีความสุขได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันบุญโฮมฟาร์ม เป็นฟาร์มเลี้ยงปลาที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอมัญจาคีรี มีปลาหลายประเภท ได้แก่ ปลานิล ปลานิลแปลงเพศ ปลาหมอ ปลากด โดยได้รับการรับรองมาตรฐานต่างๆ จากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ

- ใบรับรองการปฏิบัติทางประมงที่ดีสำหรับการผลิตสัตว์น้ำ (GAP)

   เลขที่ IFKHO-40-GAPF0-03-48-00004

- หนังสือการจำหน่ายลูกพันธุ์สัตว์น้ำ (FMD) เลขที่ 40102 181150 0005

- ใบรับรองการผลิตสัตว์น้ำขั้นปลอดภัย  เลขที่ IFKHO-40-SLF0-03-47-00010 

จากจุดเริ่มต้น “บุญโฮมฟาร์ม” มีพื้นที่เพียงไม่กี่ไร่  จนกระทั่งในปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 400 ไร่ สามารถผลิตลูกปลานิลแปลงเพศได้ประมาณ 300 ล้านตัวต่อปี  ลูกปลารุ่น  2 ล้านตัวต่อปี ปลาเนื้อ 100 ล้านตัวต่อปี นายสุพงษ์ ยังมีแนวคิดที่จะขยายตลาดไปสู่อาเซียนและยังมีโครงการที่จะสร้างห้องเย็นเพื่อรวบรวมปลาส่งออกไปยังประเทศในแถบแอฟริกาอีกด้วย

นายสุพงษ์ ได้ดำเนินชีวิตและประกอบกิจกรรมในฟาร์มอย่างค่อยเป็นค่อยไป ศึกษาหาความรู้และใช้ความรู้ เหตุผลประกอบการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนตามความเหมาะสมกับอัตภาพและสภาพแวดล้อม ทำการผลิตอย่างหลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงทางการตลาด มีการประยุกต์ใช้หลักการบริหารจัดการที่เกื้อกูลกันในการดำเนินกิจกรรม เช่น การเลี้ยงโคบริเวณคันบ่อปลาเพื่อให้โคบริโภคหญ้าบริเวณคันบ่อ นอกจากจะลดต้นทุนในการตัดหญ้าแล้ว ยังได้ปุ๋ยมูลโคและเนื้อโค ซึ่งสามารถนำมาจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง และยังได้ต่อยอดช่องทางการจำหน่ายโดยได้เปิดกิจการร้านอาหาร       ครัวปลาสด ซึ่งใช้วัตถุดิบหลักที่มีคุณภาพจากฟาร์มมาประกอบอาหารอีกด้วย

 ในส่วนของภาคสังคม นายสุพงษ์ ได้รับเชิญเป็นวิทยากร เพื่อให้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาให้กับชาวบ้านที่สนใจ และยังใช้พื้นที่ประกอบกิจกรรมการเกษตรของตนเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้แก่เยาวชน และผู้สนใจ ตลอดจนเป็นที่ฝึกงานให้กับ นิสิต นักศึกษาที่สนใจจะเข้ามาศึกษาเรียนรู้ในภาคปฏิบัติ

                       

ผลงานที่สร้างคุณประโยชน์

                        ผลงานที่นายสุพงษ์ ได้พัฒนาขึ้นก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา โดยทำให้เกษตรกรเข้าใจวิธีการเลี้ยงปลาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ถูกต้องตามหลักมาตรฐาน โดยใช้ต้นทุนต่ำ ซึ่งมีผลงานสร้างคุณประโยชน์ที่โดดเด่น อาทิ

                        1. นวัตกรรมน้ำเขียว (แพลงค์ตอน) เลี้ยงปลาโดยสร้างอาหารธรรมชาติ (น้ำเขียว) วิธีการจัดการบ่อขนาด 1 ไร่ โดยปล่อยปลา 3,500 ตัว ที่ระดับน้ำ 1.30 เมตร ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเป็นตัวสร้างน้ำเขียวใส่ลงในบ่อ 150 กก.ต่อไร่ต่อสัปดาห์ เติมน้ำทุก 15 วัน ครั้งละ 20 ซ.ม. เพื่อปรับความสมดุลของน้ำ ระดับน้ำที่ไม่ลึกเกินไป จะทำให้แสงแดด สามารถส่องผ่านก้นบ่อได้จะช่วยให้พืชน้ำเกิดการสังเคราะห์แสง ระยะเวลา 6-7 เดือน ปลาในบ่อจะได้ขนาดประมาณ 3 ตัวต่อกก. ซึ่งเป็นวิธีการเลี้ยงปลาต้นทุนต่ำ         เหมาะสำหรับการทำเกษตรแบบพอเพียง

                        2. การเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน โดนเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงวัวเนื้อ พื้นที่บ่อปลา 400 ไร่ เลี้ยงวัวเนื้อ 70 ตัว ทำให้ไม่มีต้นทุนในการจัดการแปลงหญ้า ไม่สิ้นเปลืองค่าเครื่องตัดหญ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงในการตัดหญ้า

                        3. ใช้พื้นที่เกษตรกรรมเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรตำบลกุดเค้า และแหล่งศึกษา   ดูงานการผลิตปลานิลแปลงเพศแห่งแรกในภาคอีสาน

การขยายผลงาน

1.   เป็นวิทยากร บรรยายเรื่องเทคนิคการเลี้ยงปลา การจัดการฟาร์ม การพัฒนาฟาร์มมาตรฐานการผลิตสัตว์น้ำขั้นปลอดภัย ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน กลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรผู้สนใจโดยทั่วไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2.   ใช้พื้นที่เกษตรกรรมเป็นแหล่งในการเรียนรู้และศึกษาดูงาน และฝึกงานแก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจโดยทั่วไป

3.   ถ่ายทอดผลงานข้อเสนอแนะ แนวคิดที่เป็นประโยชน์ผ่านเวทีประชุม เสวนา การร่วมเป็นผู้แทนในคณะกรรมการ คณะทำงานต่างๆ ตลอดจนมีการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ

ตกลง