จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และเป็นวงกว้างต่อทั้งการแพทย์ การท่องเที่ยว การบริหาร การผลิตอุตสาหกรรม การค้า และการเกษตร ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ประชาชนส่วนหนึ่งตัดสินใจกลับภูมิลำเนาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผู้คนพากันกักตุนอาหาร จนอาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหารขึ้นได้ ภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นต้นสายแห่งการผลิต "อาหาร" อันเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์กลายเป็นหนทางรอดของกลุ่มแรงงานกลับภูมิลำเนาที่จะช่วยให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ไปได้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ีรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 บรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่น ๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นให้มีความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร มีทางเลือก มีอาหาร มีอาชีพ มีความอุดมสมบูรณ์ มีความอบอุ่นจากครอบครัว แล้วความสุขตามวิถีพอเพียงก็จะเกิดขึ้นกับชุมชน ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เป็นทางรอดของเกษตรกรไทย เพื่อมุ่งสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว นากจากจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาวเกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเองและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน
วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพัฒนาพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ในรูปแบบกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่
- เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ทั้งในส่วนกิจกรรมหลักและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องตลอดทั้งปี
- เพื่อฟื้นฟูภาคการเกษตรภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมุ่งเน้นเกษตรกรที่มีความตั้งใจเอาใจใส่อย่างจริงจัง
เป้าหมาย
- เป้าหมายเกษตรกร 32,000 ราย ในพื้นที่ 4,009 ตำบล
- พัฒนาพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ใน 4,009 ตำบล ตำบลละ 2 รายขึ้นไป โดยมีเกษตรกรเป้าหมาย 32,000 ราย พื้นที่ดำเนินการรายละ 2.5 - 5 ไร่
- เป้าหมายการจ้างงานเกษตรกร 16,000 ราย ในพื้นที่ 4,009 ตำบล