รายงานการจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร กับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
18 ต.ค. 2560
1,816
0

รายงานการจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร กับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

                  บันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) เป็นช่องทางหนึ่งในการประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและขยายความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ และเป็นเครื่องยืนยันพันธกรณีที่มีอยู่กับต่างประเทศตามข้อความที่ระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจ ซึ่งแนวปฏิบัติแต่เดิมที่ผ่านมาจะเป็นการทาบทามผ่านช่องทางการทูตโดยติดต่อผ่านสถานทูตหรือสถานกงสุลของไทย              ในต่างประเทศ หรือสถานทูตหรือสถานกงสุลต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นสื่อกลาง อีกแนวทางหนึ่งคือการทาบทามผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันโดยตรงโดยอาจใช้ช่องทางการทูตเป็นมาตรการเสริม หรือใช้โอกาสที่มีการเยือนของคณะผู้แทนในระดับสูงเพื่อทาบทามในหลักการในลักษณะนำร่องว่าจะร่วมมือกันในด้านใดแล้วมอบหมายให้หน่วยงานปฏิบัติเจรจาทำความตกลงกันต่อไป

                       สำนักการเกษตรต่างประเทศได้เล็งเห็นประโยชน์ร่วมกันในการจัดทำแนวทางความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อทำให้การดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศเกิดเป็นรูปธรรมและมีความชัดเจนยิ่งขึ้นจึงได้จัดการประชุมเรื่อง การจัดทำความตกลงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้มีการลงนามกับ   ประเทศต่างๆเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 135 โดยมีผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาสถานะความตกลงของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ร่วมกันปรับปรุงข้อมูลความตกลงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้มีการลงนามกับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 81 ฉบับ โดยแบ่งตามรายภูมิภาค ดังนี้

                   1. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้                จำนวน 14 ฉบับ

                   2. เอเชียตะวันออก                           จำนวน 27 ฉบับ 

                   3. เอเชียใต้                                     จำนวน 6 ฉบับ          

                   4. ตะวันออกกลาง                            จำนวน 2 ฉบับ    

                   5. แอฟริกา                                      จำนวน 1 ฉบับ  

                   6. อเมริกาและลาตินอเมริกา              จำนวน 4 ฉบับ    

                   7. ยุโรป                                           จำนวน 13 ฉบับ    

                   8. ออสเตรเลียและแปซิฟิก                 จำนวน 3 ฉบับ          

                   9. องค์กรและพหุภาคี                        จำนวน 11 ฉบับ 

ทั้งนี้ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ตกลง