รองปลัดฯ เศรษฐเกียรติ บุกญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการสร้างพื้นที่ GIASH ในไทย
21 ส.ค. 2567
23
0
รองปลัดฯเศรษฐเกียรติบุกญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมการสร้างพื้นที่
รองปลัดฯ เศรษฐเกียรติ บุกญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการสร้างพื้นที่ GIASH ในไทย

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนางบุณฑริกา กระจ่างวงษ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมและศึกษาดูงานด้านการเพาะปลูกผลไม้ของจังหวัด Yamanashi ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้รับรองให้ “การเพาะปลูกผลไม้ของจังหวัด Yamanashi” เป็นพื้นที่ GIAHS ในปี 2565 โดยมีความโดดเด่นในการปรับระบบการเพาะปลูก “องุ่น” ในรูปแบบขั้นบันได เพื่อให้เข้ากับสภาพพื้นที่ที่เป็นเนินตะกอนรูปพัด (alluvial fan) ของภูมิภาคเกียวโต (Kyoto)

สำหรับการเพาะปลูกองุ่นในพื้นที่จังหวัด Yamanashi ครอบคลุมพื้นที่ 7,000 เฮคเตอร์ และมีเกษตรกร 8,000 ครัวเรือน โดยถือเป็นการสนับสนุนการดำรงชีวิตเพื่อพัฒนาความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย และเป็นธุรกิจครอบครัว อย่างไรก็ตาม ระบบการเกษตรดังกล่าวสามารถสร้างผลผลิตที่มีมูลค่าและคุณภาพสูง เช่น การผลิตไวน์จากองุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ การเพาะปลูกองุ่นในพื้นที่จังหวัด Yamanashi เป็นการสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากมีองุ่นหลายสายพันธุ์ ซึ่งครอบคลุมถึงพันธุ์พื้นเมือง อีกทั้งสภาพแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ โดยการเพาะปลูกหญ้าในสวนจะเป็นการป้องกันการสูญเสียดินในพื้นที่ลาดชันและเป็นการให้ปุ๋ยอินทรีย์แก่ดิน รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและแมลง ทั้งนี้ การเพาะปลูกองุ่นในพื้นที่จังหวัด Yamanashi สะท้อนถึงระบบภูมิปัญญาของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความยาวนานมากกว่า 200 ปี โดยเกษตรกรมีการพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ ในการเสริมสร้างเสถียรภาพของผลิตภาพในพื้นที่ขนาดเล็ก รวมทั้งการรักษามาตรฐาน คุณภาพ และอัตลักษณ์ อึกทั้งในชุมชนยังมีการก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่า และการอนุรักษ์/จัดการบริหารน้ำ เพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนมีการเผยแพร่ความรู้ด้านการเพาะปลูกองุ่นให้แก่คนรุ่นใหม่เพื่อสืบทอดต่อไป

รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการศึกษารูปแบบการเพาะปลูกองุ่นในพื้นที่จังหวัด Yamanashi จะเห็นว่า มีความเหมาะสมในการเป็นพื้นที่ GIAHS เนื่องจากมีความเชื่อมโยงระหว่างระบบเกษตรกรรมที่สืบทอดมาเป็นระยะเวลานาน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและประชาชนในชุมชน และส่งเสริมการพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสามารถนำแนวความคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนา/เพิ่มจำนวนพื้นที่ GIAHS ในประเทศไทย โดยประเทศไทยยังมีพื้นที่ GIAHS เพียงแห่งเดียวคือ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีแผนขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาพื้นที่ GIAHS โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาให้มีพื้นที่ GIAHS ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 1 แห่ง ภายในปี 2569

ตกลง