ไทย - กัมพูชา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้การจัดการเกษตรพันธสัญญา พร้อมทั้งพัฒนาการเกษตรทั้งสองประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
22 เม.ย. 2568
37
0
ไทย-กัมพูชาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การจัดการเกษตรพันธสัญญา
ไทย - กัมพูชา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้การจัดการเกษตรพันธสัญญา พร้อมทั้งพัฒนาการเกษตรทั้งสองประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

วันที่ 22 เมษายน 2568 เวลา 09.30 น. นายถาวร ทันใจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับ H.E. Dr. Meas Pyseth (เมศ พิเส็จ) ปลัดกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมี นางสาวไปรยา เศวตจินดา ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ นายกฤษณ์ หาญสวัสดิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ นางสาวกนกทิพย์ วัชรเลขะกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ นางสาววรรณิกา วุฒิ นักวิเคราะห์นโยบายและแผชำนาญการ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การหารือในวันนี้ ฝ่ายไทยได้มีการนำเสนอภาพรวมนโยบายด้านการเกษตรและมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบเกษตรพันธสัญญา (contract farming) ของไทย โดยมีเจตนารมณ์เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความขัดแย้งให้แก่เกษตรกร พร้อมทั้งกำหนดกลไกในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งระบบเกษตรพันธสัญญา เป็นระบบการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืช ที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการผลิตพืชผลหรือบริการทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านรายได้ และได้รับการถ่ายทอดความรู้จำเป็น ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน มีการควบคุมต้นทุนในการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร
นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้ให้ความสำคัญต่อนโยบาย "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ซึ่งดูแลทั้งตลาดในประเทศและนอกประเทศ เพื่อนำมาวิเคราะห์ความต้องการของตลาด โดยปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการลดต้นทุนและลดแรงงาน แต่ยังสามารถเพิ่มรายได้ สร้างมูลค่าได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการแปรรูปสินค้าด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ ต้องมีมาตรฐาน มีใบรับรอง GAP เพื่อสร้างความมั่นใจของสินค้าแก่ผู้บริโภค อีกทั้งยังมีนโยบาย "ครัวไทยสู่ครัวโลก" ให้สอดคล้องกับความต้องการของโลกในด้านความมั่นคงทางอาหารยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาขนในภาคเกษตร โดยดำเนินการผ่านการขับเคลื่อนของ 9 นโยบาย ได้แก่ 1) ปรับรูปแบบการทำงานให้ทันสมัยและเข้าถึงง่าย 2) เร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร ขยายผลการยกระดับเอกสารสิทธิให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร รวมถึงพัฒนาช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุน พร้อมยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร 3) การบริหารจัดการน้ำ 4) ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 5) ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง 6) การจัดการทรัพยากรทางการเกษตร 7) การรับมือภัยธรรมชาติ การสานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน ปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายให้เข้มงวดยิ่งขึ้น และ 9) การอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร ซึ่งฝ่ายไทยมุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรไทยอย่างต่อเนื่อง ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร ระบบเกษตรพันธสัญญา การขับเคลื่อนด้านการผลิต และการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถนำองค์ความรู้จากประเทศไทยไปประยุกต์ใช้ในประเทศกัมพูชาได้ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายหวังว่าภายหลังจากการหารือในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการยกระดับภาคการเกษตรให้เข้มแข็งและยั่งยืนมากยิ่งขึ้นต่อไป

ตกลง