ความเป็นมา
History
  • ความเป็นมาของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

    ผู้บริหาร ศปท. กษ.

      NAVANIT 

    นายนวนิตย์ พลเคน

    รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

    หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

     

    การจัดตั้ง ศปท.

              คณะรัฐมนตรีมีมติในคราวประชุมเมื่อ 24 กรกฎาคม 2555 เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ฯลฯ
    เพื่อทำหน้าที่ในการบูรณาการและขับเคลื่อนแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยเป็นส่วนราชการตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

              สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556 กำหนดให้มี ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทำหน้าที่หลักบูรณาการและขับเคลื่อนแผนป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการส่งเสริมคุ้มครองจริยธรรมในกระทรวง ทั้งนี้ รับผิดชอบขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวง 

    อำนาจหน้าที่ ศปท.

    (1) เสนอแนะแก่ปลัดกระทรวงเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการในสังกัด รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
          ของส่วนราชการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง เสนอต่อปลัดกระทรวง

    (2) ประสานงาน เร่งรัด และกำกับให้ส่วนราชการในสังกัดดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการ

    (3) รับข้อร้องเรียนเรื่องทุจริต การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการ และส่งต่อไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    (4) คุ้มครองจริยธรรมตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน

    (5) ประสานงาน เร่งรัด และติดตามเกี่ยวกับการดำเนินการตาม (3) และ (4) และร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    (6) ติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการในสังกัดและการคุ้มครองจริยธรรม เสนอต่อปลัดกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    (7) ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย

    โครงสร้างการแบ่งงานภายใน ศปท.

            - อ.ก.พ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2557 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ได้มีมติอนุมัติโครงสร้างการแบ่งงานภายในของ ศปท. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    และได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งงานภายในของ ศปท. ตามคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 322/2565 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ซึ่งประกอบด้วย 2 กลุ่มงาน ได้แก่

    1. กลุ่มงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีหน้าที่ ดังนี้

           1) ปรับปรุงแผนปฏิบัติราชการฯ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกระทรวงโดยเพิ่มประเด็นยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบฯ

           2) ให้คำปรึกษา ประสานส่วนราชการในสังกัด เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการราชการฯ ของส่วนราชการให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการฯ ของกระทรวงตามข้อ 1)

           3) ประสานงาน เร่งรัด และกำกับให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการ ตามข้อ 2) 

           4) ประสาน ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดการเรื่องร้องเรียนกรณีทุจริตฯ อย่างต่อเนื่องจนได้ข้อยุติ

           5) ติดตาม และจัดทำรายงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ของกระทรวง (รวมส่วนราชการในสังกัด) ทุก 2 เดือน

           6) จัดทำรายงานผลการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ส่งไปยังสำนักงาน ก.พ.ร. ทุก 6 เดือน

    2. กลุ่มงานจริยธรรม มีหน้าที่ ดังนี้

           1) พัฒนาระบบ เครื่องมือ และกลไกที่จะสนับสนุนการส่งเสริมจริยธรรมในส่วนราชการ

           2) ส่งเสริม สนับสนุน ให้ความรู้ ฝึกอบรม และพัฒนาข้าราชการในส่วนราชการให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความตระหนักในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม

           3) ให้คำปรึกษาแนะนำ เสนอแนะนโยบายและมาตรการด้านการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และการยกระดับธรรมาภิบาล การป้องกันและปราบปรามการทุจริตของส่วนราชการรวมถึงแนวทางการนำพฤติกรรม
               ทางจริยธรรมไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคลของส่วนราชการ

           4) วิเคราะห์ข้อมูลด้านจริยธรรมเพื่อจัดการความเสี่ยงในเรื่องจริยธรรม การทุจริตและประพฤติมิชอบ

           5) จัดทำข้อกำหนดจริยธรรม หรือพฤติกรรมที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำของข้าราชการในส่วนราชการที่สอดคล้องกับบทบาทภารกิจของส่วนราชการ เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคล

           6) ดำเนินการตามมาตรการหรือแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และต่อต้านการทุจริต เช่น การพัฒนาองค์กรคุณธรรม การส่งเสริมจริยธรรมและการเสริมสร้างวินัย
               การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ

           7) รณรงค์ ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนสร้างเครือข่ายและประสานความร่วมมือระหว่างส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชน

           8) รับและดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนกรณีมีการฝ่าฝืนจริยธรรม การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ และกำหนดกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบพฤติกรรม
               ของเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงาน

           9) ติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน และข้อกำหนดจริยธรรมเสนอต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

           10) เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการจริยธรรม และคณะกรรมการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

           11) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ ก.พ. หรือคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) มอบหมาย

     

ตกลง