1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
ศาสตราจารย์ระพี สาคริก
21 พ.ค. 2561
1,986
2,194
ศาสตราจารย์ระพี สาคริก
ศาสตราจารย์ระพี สาคริก

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก
สิริอายุ                  95  ปี
เกิด                       4  ธันวาคม พ.ศ.2465
ถึงแก่อนิจกรรม        17  กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561

            ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2465 ณ แขวงวรจักร อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ เป็นบุตรคนโตของขุนตำรวจเอกพระมหาเทพกษัตริย์สมุห (เนื่อง สาคริก) กับนางสนิท ภมรสูต บิดารับราชการในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มต้นการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนสามเสนวิทยาคาร และจากนั้นได้ย้ายโรงเรียนอีกหลายแห่ง ตั้งแต่โรงเรียน เซนต์คาเบรียล โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนนาฏศิลป์ โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ได้รับประกาศนียบัตร จากกระทรวงศึกษาธิการถึง 2 ใบ จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วโอนมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ สำเร็จปริญญากสิกรรมและสัตวบาลบัณฑิต (กส.บ.) หลักสูตร 5 ปีเมื่อ พ.ศ. 2490  

            ศาสตราจารย์ระพี เป็นบุคคลที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน และมีความพากเพียร รวมถึงเป็นบุคคลที่มีความรอบรู้ รอบคอบ มีความระมัดระวังในการนำสิ่งต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินชีวิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การดูแลครอบครัวรวมไปถึงประเทศชาติ มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ ทำสิ่งใดมิได้หวังผลตอบแทน คิดถึงประเทศชาติเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเป็นบุคคลที่นำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาพัฒนาปรับปรุงงานที่รับผิดชอบให้ก้าวหน้า ส่วนความรู้ด้านศิลปะ เช่น การเล่นดนตรี การแต่งเพลง การวาดภาพ และการทำสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ได้นำมาใช้เป็นสิ่งจรรโลงชีวิตให้มีความสุข  

            โดยบทสัมภาษณ์จากฐานข้อมูลบูรพาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวไว้ว่า ท่านได้รับการเลี้ยงดูเพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็นลูกผู้ชายแบบคนรุ่นเก่านิยมทำกัน “พ่อผมเป็นคนที่เลี้ยงลูกไม่เหมือนใครคือพ่อแม่หลายคนลำบากมาแล้วไม่อยากให้ลูกลำบาก แต่พ่อคนนี้อยากให้ลูกลำบากเหมือนพ่อ พ่อใจแข็ง พ่อพูดว่าเพราะว่าเขาเป็นลูกคนโตเอาเขาไว้กับเราเขาจะไม่ดีเท่าที่ควร”

            ด้วยเหตุนี้วัยเยาว์ของท่านจึงเป็นวัยที่ท่านต้องประสบความยากลำบากต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ต้องเปลี่ยนโรงเรียนไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง เมื่ออายุ 6-7 ขวบต้องเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล นับเป็นเด็กประจำที่เล็กที่สุดในโรงเรียน ไม่ได้พบบิดามารดาเลยตลอดเวลา 1 ปีเต็ม (ปัจจุบันทางโรงเรียนได้จารึกชื่อศาสตราจารย์ระพี สาคริก ไว้ในฐานะศิษย์เก่าดีเด่นที่อาคารหอประชุมโรงเรียน) บางช่วงต้องทำงานหนักเพื่อตอบแทนผู้ให้ที่พักอาศัยและต้องอดทนต่อความขาดแคลนต่าง ๆ ทำให้ท่านเป็น เด็กที่แกร่งเกินวัย ท่านอธิบายว่าการที่บิดาเลี้ยงท่านเช่นนั้น เพื่อให้ท่านได้ตระหนักว่าผู้เป็นบิดาฝ่าฟันชีวิตมาอย่างไร และได้เล่าถึงบิดาด้วยความภาคภูมิใจว่า “เมื่อครั้งที่พ่อรับใช้เบื้องพระยุคลบาทรัชกาลที่ 6 ถูกปรามาสว่าเป็นเด็กบ้านนอก แต่แล้วพ่อได้เป็นหัวหน้าชั้นและเป็นนักกีฬารักบี้ที่มีฝีมือยอดเยี่ยม และขึ้นมาเป็นหัวหน้านักเรียนวชิราวุธ ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พ่อเป็นคนที่ภูมิใจในความเป็นคน ไม่เคยขออะไรจากในหลวงไม่เคยขออะไรจากใคร พ่อมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมากทีเดียว”

            ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เรียนหนังสือเก่งและไม่หวงวิชาพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ เพื่อนเสมอ และไม่เคยตั้งความหวังว่าจะต้องเรียนให้ได้เป็นที่ 1 เสมอ หลังจากจบปริญญากสิกรรมและสัตวบาลบัณฑิต (กส.บ.) หลักสูตร 5 ปี เมื่อ พ.ศ. 2490 แล้วได้เลือกที่จะกลับไปทำงานเป็นนักวิจัยที่วิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ โดยกล่าวว่า “ที่นี่ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ) มีอัตรามีตำแหน่งพร้อม ผมไม่ได้ลังเลเลย ผมตอบว่าจะกลับไปอยู่แม่โจ้เพราะว่าแม่โจ้สมัยก่อนนั้นเป็นโรงเรียนเตรียมของเกษตรศาสตร์ เพื่อนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดบอกกันว่า ถ้าอั๊วเป็นนกจะไม่ขอบินผ่านแม่โจ้อีกเพราะแสนจะลำบาก เพราะว่าใครอยู่ที่นั่นไม่ได้เป็นไข้มาเลเรียไม่ถือว่าได้ประกาศนียบัตรแม่โจ้ หอพักมุงด้วยใบตองตึงขึ้นไปมุงหลังคาเองทำอะไรทุกอย่างเอง”

            “ผมเป็นคนสู้ พอจบปุ๊บผมสมัครไปที่นั่นอีก แต่อาจารย์ก็แสนจะดีบอกว่าเธอไปทำไมแสนจะลำบาก ไฟฟ้าก็ไม่มี น้ำประปาก็ไม่มี ไข้มาเลเรียก็ชุม ผมตอบทันทีเลยว่า ผมไป อาจารย์บอกว่าถ้าเธอไปอยู่ที่นั่นเธอได้เพียงแค่ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวเหมือนคนงานไปทันทีเลย แต่ผมไป ผมรู้สึกว่าผมสบาย ผมอิสระ อิสระในที่นี้ไม่ได้ไปเหลวไหลคือทำในสิ่งที่ควรทำ อะไรที่ทำไม่ได้ต้องทำให้ได้”

            แนวคิดในการทำงานศาสตราจารย์ระพี สาคริก ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการทำงาน สิ่งที่อยู่ข้างนอกเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น ของจริงอยู่ที่ใจ แม้ท่านจะสำเร็จการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ก็จริง แต่ในที่สุด ก็มาอยู่กับศิลปะ สอดคล้องกับคำว่า ศิลปะ คือ ชีวิตทำงานด้วยใจจริง ๆ หรือทำงานด้วยความรัก สิ่งที่ตามมาคือจะไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ไม่เคยคิดที่จะเอาผลตอบแทนมาใส่ไว้ในใจ ไม่ว่าจะเป็นเงิน ตำแหน่ง ทำอยู่บนฐานความเมตตา เมื่อความเมตตาเกิดขึ้น ถูกว่าก็ไม่โกรธ ถูกทำร้ายก็ไม่ถือ หรือเรียกว่าไม่ใส่ใจ จึงได้รับความร่วมมือจากคนอื่น เข้าได้กับคนทุกระดับและทุกสภาพ

ผลงานที่สร้างคุณูปการ

            จากการที่คนไทยในสมัยก่อนเก็บพันธุ์กล้วยไม้จากป่าส่งขายต่างประเทศ แล้วชาวต่างชาติได้เอากล้วยไม้ป่าที่ซื้อไว้ไปผสมพันธุ์เป็นกล้วยไม้ลูกผสม ส่งกลับมาขายเป็นของแพงที่เมืองไทย ทำให้การเลี้ยงกล้วยไม้ส่วนใหญ่จึงจำกัดอยู่เฉพาะในวงศ์ผู้ดี ผู้มีเงินในสมัยนั้น เอาไว้อวดบารมีกัน และเพราะคนไทยดูถูกของป่าของเราเอง ทำให้กล้วยไม้ป่าของไทยในขณะนั้นดูไม่มีมูลค่ามากนัก ระหว่างที่ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้เดินทางติดตามบิดาไปตรวจราชการทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เห็นว่าส่วนหนึ่งของกล้วยไม้ลูกผสมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศนั้น มีพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่เก็บมาจากป่าเมืองไทยเรานี่เอง ศาสตราจารย์ระพี จึงมีความคิดที่จะทลายกำแพงระหว่างชาวบ้านกับกล้วยไม้ ไม่ให้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มของผู้มีเงิน ซึ่งในขณะนั้นศาสตราจารย์ระพี ได้รับมอบหมายให้ไปทำงานวิจัยเรื่องข้าว ยาสูบ และพืชเศรษฐกิจ เนื่องจากในขณะนั้น การทำยาสูบยังเป็นเรื่องปกติ ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข เพราะไม่ได้รับมอบหมายให้ทำโดยตรง แต่ศาสตราจารย์ระพี ถือหลักโบราณที่กล่าวว่าไว้ งานหลวงไม่ให้ขาด งานราษฎร์ไม่ให้เสีย ท่านผสมผสานเรื่องนี้ โดยเริ่มจากค้นคว้า วิจัยเรื่องกล้วยไม้อย่างจริงจัง ใช้กล้วยไม้พื้นเมืองที่มีราคาถูกเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และวัสดุอุปกรณ์ที่มีในท้องถิ่น จนได้ค้นพบวิธีการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ตั้งแต่ฝักยังอ่อน จากการเดินทางไปประชุม ที่สหรัฐอเมริกา และได้พบการสาธิตวิธีขยายพันธุ์แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Plant tissue culture) หรือคนไทยเรียกว่าการปั่นตา ซึ่งเป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่ลักษณะตรงตามสายพันธุ์ รวดเร็ว และขยายพันธุ์ได้ครั้งละมาก ๆ จึงได้นำเอาความคิดดังกล่าวออกมาเผยแพร่และสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยขึ้นในวงการไทยอย่างไม่จำกัด และเน้นวิธีการจัดการที่พยายามดัดแปลงวัสดุอุปกรณ์ในประเทศไทยมาใช้ในห้องปฏิบัติการ

            ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้เผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ สถานีวิทยุกระจายเสียง และสื่อสิ่งพิมพ์ เมื่อมีการตั้งกรมการข้าวในช่วง พ.ศ. 2496 โรงสีทดลองของแผนก การโรงสี กรมการข้าว ในช่วงที่ท่านเป็นหัวหน้าอยู่ก็กลายเป็นห้องปฏิบัติการตรวจคุณภาพข้าวห้องแรกที่ใช้ ในการเรียน การสอน การส่งเสริม การฝึกอบรม และการทำวิทยานิพนธ์ของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพื้นที่หลังโรงสีสร้างเรือนต้นไม้ไว้ให้นิสิตมีใจรักกล้วยไม้ ทดลองปลูกกล้วยไม้ในยามว่าง

            ผลงานด้านกล้วยไม้ของศาสตราจารย์ระพี ได้รับการเผยแพร่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ถึงระดับนานาชาติ นับแต่ พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา และได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายทางวิชาการในที่ประชุมกล้วยไม้โลกมาโดยตลอด นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีโอกาสร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานกล้วยไม้โลกครั้งแรกของเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ. 2521 และได้รับความเคารพยกย่องเป็นปูชนียบุคคล โดยเฉพาะใน วงการศึกษาและวงการกล้วยไม้ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย” ด้วยการค้นคว้าและส่งเสริมกล้วยไม้ทั้งด้านการปรับปรุงพันธุ์ ขยายพันธุ์ ตลอดจนด้านธุรกิจการส่งออก ทำให้กล้วยไม้ไทยกลายเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ด้านวิชาการ และยังได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อปี พ.ศ. 2513

            ในปี พ.ศ. 2533 ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้ลาออกจากตำแหน่งประจำต่างๆ ที่เคยดำรงก่อนกำหนดเกษียณอายุราชการ เพื่อมาใช้ชีวิตที่สงบและเรียบง่าย เหลือเพียงการเป็นที่ปรึกษาให้วิทยาทานด้วยการบรรยาย สัมมนา โดยเฉพาะด้านการพัฒนาชนบท จริยธรรม และได้ปวารณาตนที่จะทำงานให้เฉพาะองค์กรการศึกษาและสาธารณกุศลเท่านั้น

            นอกจากผลงานด้านวิชาการกล้วยไม้แล้ว ท่านเป็นผู้มีทัศนะอันกว้างขวาง ลึกซึ้ง ทันการณ์ต่อชีวิตและโลก จึงทำให้ประวัติและผลงานของท่านได้รับการเรียบเรียงเป็นบทความตีพิมพ์แล้วไม่น้อยกว่า 10 เล่ม บางเล่มมีผู้ขอตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง เช่น เพียงข้าวเมล็ดเดียว หอมกลิ่นกล้วยไม้ แด่วิญญาณครูที่ฉันรักยิ่งชีวิต วิญญาณใต้ร่มนนทรี เกษตรกรที่รัก เขียนจากใจ บรรทุกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นต้น และ ด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ ท่านจึงได้รับการยกย่องจากวงการสื่อมวลชนเป็นราษฎรอาวุโส แม้เวลาจะผ่านไป นานเท่าใด ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ก็ยังคงเป็นทั้งอาจารย์ คุณพ่อ และคุณปู่ ของศิษยานุศิษย์ที่พร้อมจะ ชี้ทางสว่างและคลี่คลายปัญหาให้ด้วยเมตตาธรรมไม่เคยเปลี่ยนแปลง

รางวัล และเกียรติคุณที่ได้รับ
            - ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต พ.ศ. 2558
            - ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญา และมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย พ.ศ. 2552
            - ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาชีววิทยามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2534
            - รางวัลเหรียญทอง Veitch Memorial Gold Medal Award ราชสมาคมพืชศาสตร์ แห่งประเทศอังกฤษ (RHS) ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุดที่ประเทศอังกฤษมอบให้แก่บุคคลในด้านวิชาการพืชศาสตร์ พ.ศ. 2529
            - ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต คณะเกษตรศาสตร์ สาขาเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาเทคโนโลยีการเกษตรพืชศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (วิทยาลัยแม่โจ้) เชียงใหม่ พ.ศ. 2524-2525
            - รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงจากสมเด็จพระจักรพรรดิ์(The Sacret Class of The Rising Sun) ในฐานะเป็นบุคคล ผู้ประสบผลสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์ ทางจิตใจระหว่างประเทศ โดยใช้กล้วยไม้เป็นสื่อสัมพันธ์ โดยที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ฟูกูดะเป็นผู้มอบในโอกาสที่บินมาประเทศไทย พ.ศ. 2523
            - รางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal Award) ในฐานะที่เป็นประธานจัดงานประชุมกล้วยไม้โลก ครั้งที่ 9 ได้ด้วยผลสำเร็จที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญสมาคมกล้วยไม้อเมริกัน (Amercan Orchid Society) พ.ศ. 2521
            - รางวัลเหรียญทองให้ในฐานะที่มีบริการทางวิชาการแก่โลกในด้านกล้วยไม้ดีเด่นมาเป็นเวลายาวนาน สมาคมกล้วยไม้เอเซียอาคเนย์แห่งประเทศสิงคโปร์ พ.ศ. 2520
            - ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ตำแหน่งวิชาการ โดยไม่ได้ผ่านการเป็น รองศาสตราจารย์ พ.ศ. 2513
            - ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด ที่แสดงถึงความเป็นเลิศทางวิชาการ พ.ศ. 2511
            - ประกาศนียบัตร AWARD OF HONOUR องค์การกล้วยไม้แห่งชาติของประเทศออสเตรเลีย พ.ศ. 2509

ประวัติการทำงาน
            - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (24 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2523)
            - อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (13 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 –16 มีนาคม พ.ศ. 2522)
            - ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2513)
            - อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2503)
            - โรงสีข้าวทดลอง แผนกการโรงสี กรมการข้าว (พ.ศ. 2496)
            - กรมกสิกรรม กรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2493)
            - นักวิจัย สถานีทดลองกสิกรรมแม่โจ้ (พ.ศ. 2490 – 2492)

ผลงานเด่น
            -การปรับปรุง ขยายพันธุ์ และการผลักดันการส่งออกกล้วยไม้ไทย การปรับปรุงพันธุ์ข้าว
            - การนำวิชาการสถิติและการวางแผนวิจัยการเกษตรออกใช้ในภาคสนาม
            - การนำนโยบายการปลูกยางพาราไปปลูกทางภาคอีสาน (อีสานเขียว)
            - กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของทบวงมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัยต่าง ๆ
            - จัดตั้งห้องสมุดกล้วยไม้ระพี สาคริก
            - นักดนตรี (เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งและนักดนตรี เคยู แบนด์)
            - นักเขียน (เช่น เพียงข้าวเมล็ดเดียว หอมกลิ่นกล้วยไม้ แด่วิญญาณครูที่ฉันรักยิ่งชีวิต)

ที่มาของข้อมูล
            - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2552 ประวัติและผลงานเกษตรกร สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2552 โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย
            - ฐานข้อมูลบูรพาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าถึงได้จาก http://archives.psd.ku.ac.th/kuout/p129.html
            - ประวัติย่อศาสตราจารย์ระพี สาคริก ที่เกี่ยวกับงานกล้วยไม้ www.openbase.in.th/files/ สาคริก.doc
            - ถอดรหัสความรู้ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เรื่องการพัฒนาคนพร้อมกับพัฒนาการเกษตร กองวิจัยและพัฒนาส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง