1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมกุ้งไทย
25 มิ.ย. 2561
3,741
0
แก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมกุ้งไทย
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมกุ้งไทย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมกุ้งไทย ผ่านการมีส่วนร่วมในการคิด วิเคราะห์ และวางแผน พร้อมมองหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อขยายฐานการตลาดสำหรับสินค้ากุ้งไทยในอนาคต

     นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดงานวันกุ้งภาคกลาง ประจำปี 2561 ภายใต้หัวข้อ “แหล่งผลิตสัตว์น้ำปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมมาตรฐานสากล” ณ โรงแรมวาสิฏฐี ซิตี้ โฮเทล อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ว่า จังหวัดสุพรรณบุรี กรมประมง สมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย ชมรมผู้เพาะเลี้ยงกุ้งคุณภาพทั้ง 4 ชมรม ได้แก่ ชมรมผู้เพาะเลี้ยงกุ้งคุณภาพจังหวัดสุพรรณบุรี ชมรมผู้เพาะเลี้ยงกุ้งคุณภาพจังหวัดราชบุรี ชมรมผู้เพาะเลี้ยงกุ้งคุณภาพจังหวัดนครปฐม และชมรมผู้เพาะเล้ยงกุ้งคุณภาพจังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงสมาพันธ์เกษตรกรผุ้เลี้ยงกุ้งไทยและสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย ร่วมกันจัดงานวันกุ้งภาคกลางประจำปี 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติของจังหวัดสุพรรณบุรี ระดมสมองผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกุ้งไทยในการแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมกุ้งไทย และส่งเสริมสนับสนุนในการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งในเขตภาคกลาง และผู้ประกอบธุรกิจต่อเนื่อง ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนตามแนวทางการผลิตสัตว์น้ำที่ปลอดภัยกับผู้บริโภคเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดผู้ซื้อ

     ทั้งนี้ จากข้อมูลอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ประเทศไทยมีฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่ได้รับมาตรฐาน จำนวน 8,248 ฟาร์ม โรงเพาะฟักและอนุบาล จำนวน 251 ฟาร์ม รวมทั้งสิ้น 8,499 ฟาร์ม โดยมีพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงประมาณ 138,078.86 ไร่ และฟาร์มเพาะ 674.07 ไร่ และจากสถานการณ์การผลิตกุ้งทะเล ในปี 2560 สามารถผลิตกุ้งได้ 297,111.05 ตัน จากการปล่อยลูกกุ้ง 41,267.09 ล้านตัว มีปริมาณการส่งออก 697,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 66,700 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 66 และมีปริมาณการบริโภคภายในประเทศ จำนวน 100,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 34 และในปี 2561 มีผลผลิตจนถึงเดือนเมษายน 2561 มีจำนวน 73,569.28 ตัน จากการปล่อยลูกกุ้ง 10,567.18 ล้านตัว

     นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันสินค้ากุ้งซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยปีละหลายหมื่นล้าน กำลังประสบกับปัญหาการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากมีประเทศผู้ผลิตกุ้งเกิดใหม่และมีการขยายการผลิตอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยคุณสมบัติที่เป็นจุดเด่นของสินค้ากุ้งไทยที่ยังเป็นที่ยอมรับของผู้ชื้อในหลายประเทศ ที่โดดเด่นด้วยความปลอดภัย ไร้สารตกค้าง และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ยังคงเป็นจุดขายที่สามารถยืนหยัดได้ในตลาดโลก ถึงแม้สัดส่วนการตลาดของสินค้ากุ้งไทยจะไม่สูงเหมือนเช่นปีก่อน ๆ แต่ก็ยังเป็นระดับที่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นเพื่อให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของประเทศไทย สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในการร่วมกันแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมกุ้งไทย ผ่านการมีส่วนร่วมในการคิด วิเคราะห์ และวางแผนร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงร่วมกันมองหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อขยายฐานการตลาดสำหรับสินค้ากุ้งไทยในอนาคต นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ให้ความสำคัญกับการจัดทำมาตรฐานทั้งที่เป็นมาตรฐานชาติ เช่น มาตรฐาน มกษ หรือมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบที่มีความสำคัญและสามารถผลักดันและสนับสนุนสินค้ากุ้งไทยให้เป็นที่ต้องการและแข่งขันได้ในตลาดสากล ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยจะกลับมาเป็นผู้ผลิตกุ้งที่มีคุณภาพอันดับต้น ๆ ของโลกได้อีกครั้ง

     สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ดำเนินการแก้ไขปัญหามีทั้งสิ้น 5 แนวทาง ได้แก่ 1) การช่วยเหลือจากภาคเอกชน โดยกรมประมงได้ร่วมหารือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกุ้ง ในการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต 2) การรับซื้อกุ้งในราคานำตลาด  3) การส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ 4) การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เกษตรกรในด้านการผลิตและการตลาด และ 5) การลดต้นทุนการผลิตในด้านพลังงาน

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง