1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
แนะรับมือไรกำมะหยี่ลำไย
20 ก.ค. 2561
3,992
0
กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนลำไยให้เฝ้าระวังไรกำมะหยี่ลำไย สามารถพบได้ในระยะแตกใบอ่อน ออกดอก และผลอ่อน
แนะรับมือไรกำมะหยี่ลำไย
แนะรับมือไรกำมะหยี่ลำไย

     ระยะนี้มีฝนตกกระจายทั่วทุกพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนลำไยให้เฝ้าระวังไรกำมะหยี่ลำไย สามารถพบได้ในระยะแตกใบอ่อน ออกดอก และผลอ่อน มักพบไรชนิดนี้เข้าทำลายช่อใบอ่อนของลำไย ทำให้ใบอ่อนมีขนาดเล็กลง ขอบใบบิดม้วนงอ บางครั้งใบบิดเป็นเกลียว เมื่อนำใบที่ถูกทำลายมาตรวจดูใต้กล้องที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 40 เท่าขึ้นไป จะพบเส้นขนละเอียดสีเขียวหรือน้ำตาลอ่อนขึ้นปกคลุมที่ผิวใบหรือยอดอ่อนทั้งบนใบและใต้ใบ ให้สังเกตบริเวณซอกขน จะพบไรตัวเล็กคล้ายหนอน ลำตัวสีขาวนวล และอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

     สำหรับช่อใบที่ถูกทำลายจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งคาช่อ บางส่วนที่ยังไม่ถูกไรทำลายสามารถแทงช่อใบขึ้นมาใหม่ แต่จะมีอาการหงิกงอเช่นเดิม และช่อใบที่ถูกไรเข้าทำลายนี้ จะมีก้านช่อแตกเป็นพุ่มกระจุก มีข้อปล้องสั้นคล้ายพุ่มไม้กวาด ถ้าไรเข้าทำลายในระยะที่ลำไยแตกช่อดอก จะทำให้ช่อดอกแตกพุ่มคล้ายไม้กวาด ช่อดอกสั้น ที่ดอกมีขนละเอียดสีน้ำตาลปกคลุม ช่อดอกที่ถูกไรเข้าทำลาย ดอกจะแห้งและร่วงจนเหลือแต่ก้าน ช่อเป็นพุ่มสีน้ำตาลแห้ง ไม่ติดผลหรือติดผลน้อย

     ข้อสังเกตลักษณะการเข้าทำลายของไรกำมะหยี่ลำไย คือ ผิวใบลำไยที่เกิดจากการเข้าทำลายของไรกำมะหยี่จะมีลักษณะเป็นขนละเอียดคล้ายพรม และมีลักษณะคล้ายกับใบลำไยที่ได้รับสารกำจัดวัชพืช 2,4-ดี ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันที่ผิวใบจะเรียบเพียงเท่านั้น ส่วนการปลูกต้นลำไยในแปลงที่ปลูกใหม่ ให้เกษตรกรปลูกลำไยโดยเลือกใช้พันธุ์ต้านทานโรค ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ไรกำมะหยี่ลำไยจะระบาดมากในต้นลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวที่มีอายุมาก ส่วนต้นลำไยพันธุ์อีดอและพันธุ์อื่นๆ จะพบน้อยกว่า

     เกษตรกรควรหมั่นสำรวจส่องดูไรกำมะหยี่ลำไยในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบมีการระบาด ให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่งและยอดที่ถูกไรทำลายนำไปเผาทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อช่วยลดการระบาดของไรกำมะหยี่ลำไย กรณีไรกำมะหยี่ระบาดรุนแรงจนไม่สามารถตัดแต่งกิ่งที่ถูกทำลายลงได้หมด ให้เกษตรกรตัดแต่งทรงพุ่มต้นลำไย จากนั้น หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยแล้ว ให้พ่นด้วยสารฆ่าไรโพรพาไกด์ 30% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือกำมะถันผง 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 200 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะมิทราซ 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และให้พ่นซ้ำ เมื่อต้นลำไยแทงยอดใหม่ หลีกเลี่ยง การพ่นสารฆ่าไรในช่วงที่มีแดดจัด เพราะอาจทำให้ใบอ่อนไหม้ได้

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง