1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ เปิดเสวนา “ไทยจะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร (ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ได้อย่างไร
5 ก.ค. 2561
2,888
0
รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ
รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ เปิดเสวนา “ไทยจะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร (ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ได้อย่างไร

รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ เปิดเสวนา “ไทยจะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร (ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ได้อย่างไร

          นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการเสวนาเรื่อง “ไทยจะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร (ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ได้อย่างไร” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ว่า การเสวนาดังกล่าว เกิดจากการที่สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการเกษตร ได้ร่วมกันพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกระจัดกระจายอยู่ในหลายยุทธศาสตร์ ทั้งด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการสร้างการเจริญเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้านความมั่นคง จึงได้พิจารณาว่าน่าจะได้มีการรวบรวมข้อคิดเห็นจากหลายฝ่าย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เสนอต่อรัฐบาลหรือคณะกรรมาธิการ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แต่งตั้งขึ้น เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องเกษตรกรและประเทศชาติโดยรวม ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสามารถนำไปปฏิบัติได้

          นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เกิดขึ้นเพราะเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 65 ซึ่งระบุว่า รัฐพึงจัดให้มี “ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทาแผน และนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 ยังได้ระบุด้วยว่า คณะรัฐมนตรีจะเข้าบริหารประเทศได้ ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งนโยบายนั้นต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา และได้นำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมานั้น ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งจะเห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่มียุทธศาสตร์ด้านการเกษตร เป็นการเฉพาะ แต่การพัฒนาด้านการเกษตรได้กระจายอยู่ในหลายยุทธศาสตร์ โดยมีการกล่าวถึงมากที่สุดในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

          อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 - 2579 รวมทั้งแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 - 2564 เอาไว้ด้วย ควบคู่กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะมีผลผูกพันกับนโยบายของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานในการพัฒนาภาคการเกษตรให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยเน้นการพัฒนาให้เกษตรกรทุกคน และทุกสถาบันเกษตรกร เป็น Smart Farmer Smart Group และ Smart Enterprise พร้อมทั้งกาหนดเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้ 390,000 บาท/คน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เน้นการพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และส่งเสริมการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยกาหนดไว้ว่า GDP ภาคเกษตรจะต้องเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตร พัฒนาผลงานวิจัยไปสู่การผลิตนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายว่าผลงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะได้รับการพัฒนาต่อยอดนาไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 80 ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และยั่งยืน เน้นการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรอย่างยั่งยืน ฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุลและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรปีละ 2 ล้านไร่ มีพื้นที่ชลประทาน 49.52 ล้านไร่ และยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาระบบริหารจัดการภาครัฐ พัฒนาให้บุคลากรของรัฐเป็น Smart Officer และ Smart Researcher เชื่อมโยงการทำงานทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ โดยการปรับโครงสร้างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปรับปรุงกฎหมายด้านการเกษตรให้ทันสมัย ซึ่งทั้ง 5 ยุทธศาสตร์นี้ คือสิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการให้บรรลุผลใน 20 ปีข้างหน้า 

          "การพัฒนาภาคการเกษตรจาก 3.0 ไปสู่ 4.0 เพื่อเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จะทำให้ประชาชนมีงานทำ มีการจ้างแรงงาน และเป็นต้นแบบของประเทศอื่น โดยปัจจุบันภาคการเกษตรไทยยังมีปัญหาและช่องว่างอยู่ในเรื่องความเหลื่อมล้ำของภาคการเกษตร เกษตรกรมีรายได้ค่อนข้างต่ำ และเกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายที่จะทำให้ภาคการเกษตรของไทยมีความเข้มแข็ง ทั้งในเรื่องความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทย เช่น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง การขาดแคลนแรงงาน อันเนื่องมาจากภาคเกษตรไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ รวมถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ แต่ภาคเกษตรไทยยังเป็นความหวังของไทยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อไปในอนาคต" นายลักษณ์ กล่าว

 

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง