1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
อากาศแห้งแล้งให้ระวัง 3 แมลงศัตรูถั่วเขียว
25 ม.ค. 2561
1,563
0
ในช่วงเข้าสู่สภาพอากาศแห้งแล้ง กรมวิชาการเกษตร แนะให้เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเขียวเฝ้าระวังการระบาดของ 3 แมลงศัตรูพืช คือ เพลี้ยจักจั่น หนอนม้วนใบ และหนอนกระทู้ผัก
อากาศแห้งแล้งให้ระวัง 3 แมลงศัตรูถั่วเขียว
อากาศแห้งแล้งให้ระวัง 3 แมลงศัตรูถั่วเขียว

     ในช่วงเข้าสู่สภาพอากาศแห้งแล้ง กรมวิชาการเกษตร แนะให้เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเขียวเฝ้าระวังการระบาดของ 3 แมลงศัตรูพืช คือ เพลี้ยจักจั่น หนอนม้วนใบ และหนอนกระทู้ผัก โดยจะพบการเข้าทำลายในระยะที่ต้นถั่วเขียวอายุประมาณ 30 วัน สำหรับเพลี้ยจักจั่น มักพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเพลี้ยจักจั่นดูดน้ำเลี้ยงใต้ใบ ทำให้ใบห่อลง หงิกงอ และใบไหม้ ในกรณีที่ระบาดรุนแรงใบจะร่วงหล่นทั้งต้น หากเกิดการเข้าทำลายก่อนระยะออกดอก จะทำให้ต้นถั่วเขียวไม่ออกดอก ส่วนการเข้าทำลายในระยะออกดอก จะทำให้ดอกร่วงและไม่ติดฝัก หรือฝักและเมล็ดลีบ ผลผลิตเสียหายมากกว่า 30-80 เปอร์เซ็นต์ หากพบให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

     ส่วน หนอนม้วนใบ จะพบหนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และชักใยบางคลุมตัวไว้แล้วกัดกินผิวใบ เมื่อหนอนโตขึ้นจะกระจายกันออกไปหาใบหรือชักใยดึงเอาใบหลายๆ ใบมาห่อรวมกัน และอาศัยกัดกินอยู่ภายในใบที่ม้วนนั้นจนหมด จากนั้นจึงเคลื่อนย้ายไปทำลายใบอื่นต่อไป หากพบใบถูกทำลาย 30 เปอร์เซ็นต์ในระยะก่อนออกดอกถึงระยะฝักยังเขียวอยู่ หรือใบถูกทำลาย 60 เปอร์เซ็นต์หลังดอกบาน 4 สัปดาห์ ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

     นอกจากนี้ เกษตรกรต้องเฝ้าระวังหนอนกระทู้ผัก มักพบหนอนที่ฟักออกมาจากไข่ใหม่ๆ อยู่รวมกันเป็นกลุ่มแทะกัดกินผิวใบด้านล่าง ทำให้เหลือแต่ผิวใบด้านบนจนมองเห็นใบโปร่งใสคล้ายร่างแห เมื่อหนอนโตขึ้นจะแยกกลุ่มออกไปกัดกินใบทั่วทั้งแปลง ทำให้ผลผลิตลดลง หากพบการระบาด ให้เกษตรกรพ่นเชื้อไวรัสของหนอนกระทู้ผัก อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่น 1-2 ครั้ง กรณีที่พบใบถูกทำลาย 30 เปอร์เซ็นต์ในระยะก่อนออกดอกถึงระยะฝักยังเขียวอยู่ หรือใบถูกทำลาย 60 เปอร์เซ็นต์หลังดอกบาน 4 สัปดาห์ ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอร์ฟลูอาซูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง