1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
ตราสัญลักษณ์ 133 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
"อาจารย์ยักษ์" ย้ำ ทุกหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ บูรณาการจัดการน้ำ มองผลกระทบทุกด้าน มุ่งประชารัฐทำแบบสามัคคี
29 ม.ค. 2561
359
0
อาจารย์ยักษ์ย้ำทุกหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ
"อาจารย์ยักษ์" ย้ำ ทุกหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ บูรณาการจัดการน้ำ มองผลกระทบทุกด้าน มุ่งประชารัฐทำแบบสามัคคี

"อาจารย์ยักษ์" ย้ำ ทุกหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ บูรณาการจัดการน้ำ มองผลกระทบทุกด้าน มุ่งประชารัฐทำแบบสามัคคี

         "รมช. เกษตรฯวิวัฒน์"ลงพื้นที่ติดตามโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เผยห่วงดินตะกอนที่มากขึ้นจากเขาหัวโล้นต้นน้ำไหลลงเขื่อน หนุนสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จับมือเครือข่ายลุ่มน้ำแม่กวงและกรมชลฯ เร่งศึกษาวิจัยผลกระทบเรื่องตะกอนดินและศึกษาการจัดการน้ำทฤษฎีใหม่อ่างใหญ่ เติมอ่างเล็ก อ่างเล็กเติมสระน้ำของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่จ. สระบุรีและกาฬสินธุ์ พร้อมมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

         นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ที่พัฒนาและบริหารจัดการน้ำเชื่อมโยงระหว่างลุ่มน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของลุ่มน้ำปิง เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำปิงในเขตจ.เชียงใหม่และ จ. ลำพูน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในภาคเหนือตอนบนทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยโครงการดังกล่าวจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้มากขึ้นเฉลี่ยปีละ 160 ล้านลบ .ม. ทำให้พื้นที่ชลประทานในฤดูแล้งเพิ่มขึ้นจาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมจากปีละ 13.31 ล้าน ลบ.ม. เป็น 49.99 ล้าน ลบ.ม.ตลอดทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในตัวเมืองเชียงใหม่ด้วย กระทรวงเกษตรฯ โดย กรมชลประทานจึงได้ทำการศึกษาและออกแบบเพื่อปรับสมดุลน้ำส่วนเกิน โดยมีการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด และอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างกำหนดแล้วเสร็จในปี 2565 

        "ประเด็นสภาพแวดล้อมโดยรวมที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่เรื่องของเทคนิค แต่เป็นเรื่องของต้นน้ำ เนื่องจากต้นน้ำปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ดินชะล้างพังทลายสูงจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ตะกอนดินที่มากับน้ำจะส่งผลทำให้เขื่อนตื้นเขินประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำน้อยลง ส่งผลให้ความพยามที่จะเก็บกักน้ำเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติขาดแคลนในช่วงหน้าแล้งน้อยลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ มีเครือข่ายลุ่มน้ำแม่กวงซึ่งเป็นเครือข่ายที่ขยายผลแนวทางการแก้ไขปัญหาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ โดยมีนายคณิต ธนูธรรมเจริญ นักวิชาการเข้าไปทำงานประสานกับประชาชนในพื้นที่ จนเห็นผลทำให้สมบูรณ์ของป่ากลับคืนมา มีน้ำสมบูรณ์ ดินสมบูรณ์ขึ้น และประชาชนเข้มแข็งขึ้นจริง " นายวิวัฒน์ กล่าว

          ด้าน นายคณิต ธนูธรรมเจริญ อดีตนักวิชาการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ที่เข้าไปส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนรวมจนสามารถสร้างแกนนำทำงานอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปี เผยผลวิจัยชี้ชัดว่า การดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยยึดหลัก เข้าใจ  เข้าถึง พัฒนา ใช้วิธีการเดินไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่  ส่งผลให้การพัฒนาพื้นที่จากพื้นที่เสื่อมโทรมกลับมาเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ได้จริง โดยของป่าสมบูรณ์ขึ้นจากแต่ป่าเบญจพรรณ 42% เพิ่มขึ้นเป็น 55% ชนิดของพันธ์ไม้จาก 57 ชนิดเพิ่มเป็น 290 ชนิด การปกคลุมเรือนยอด จาก 64% เพิ่มเป็น 82% กล้วยไม้ท้องถิ่นกลับมาจาก 24 ชนิดเป็น 121 ชนิด และความสมบูรณ์ของดินเพิ่มขึ้นจริงจากธาตุอาหารในดิน 1% เป็น 3.4% ต่อน้ำหนักที่สำคัญคือป่าที่เพิ่มมากขึ้นนั้นส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น อัตราการระเหยลดลงความชื้นสัมพัทธ์เพิ่มขึ้น อุณหภูมิลดลงอย่างชัดเจน โดยจากปี 2527 ปริมาณฝนเฉลี่ย 1,142.2 มม./ปี อัตราการรระเหย 1,356 มม./ปี และความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 77 อุณหภูมิ 26.6 องศา เมื่อวัดในปี 2560 พบปริมาณฝน 1,413.2 มม./ปี อัตราการระเหย 1,218 มม./ปี ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 87.8 อุณหภูมิ 21.7 องศา

             ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังได้มอบหมายให้กรมชลประทานประสานกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ในการบูรณาการทำงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อสร้างเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยทำงานสนองพระราชดำริพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ด้วยการสนับสนุนให้มีพลังจิตอาสา กระต้นให้คนไทยเกิดความสามัคคีเดินตามรอยพ่อ ทำหน้าที่เป็นกลไกในการชักชวนให้ประชาชนมาร่วมเป็นจิตอาสาดูแลลุ่มน้ำแม่กวง ขยายผลไปในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย และลุ่มน้ำสาขา ของลุ่มน้ำปิง สร้างเครือข่ายจัดการลุ่มน้ำให้แข็งแรงทุกภาคส่วน เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของน้ำ ป้องกันและแก้ไขปัญหาความต้องการน้ำที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ จะสนับสนุนให้สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จังหวัดเชียงใหม่ มาร่วมกับเครือข่ายลุ่มน้ำแม่กวง และกรมชลประทาน เพื่อทำการศึกษาวิจัยผลกระทบการเกิดตะกอน และให้ศึกษาการจัดการน้ำทฤษฎีใหม่อ่างใหญ่ เติมอ่างเล็ก อ่างเล็กเติมสระน้ำของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่จ. สระบุรีและกาฬสินธุ์ ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า ที่แสดงให้เห็นผลแล้วว่าด้วยการจัดการน้ำที่วางแผนเชื่อมโยงทั้งระบบสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำได้มากถึง 5 เท่า ส่วนวิธีการนั้นให้มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักเก็บน้ำ มีแหล่งน้ำประจำไร่นาในพื้นที่ของตนเพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำช่วงหน้าแล้งด้วย

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง