1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
กระทรวงเกษตรฯ จัดงานวันรณรงค์การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เพื่อการผลิตข้าวแปลงใหญ่ผสมผสาน หนุนการใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในกระบวนการผลิตข้าว
13 ก.พ. 2561
1,895
0
กระทรวงเกษตรฯจัดงานวันรณรงค์การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ
กระทรวงเกษตรฯ จัดงานวันรณรงค์การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เพื่อการผลิตข้าวแปลงใหญ่ผสมผสาน หนุนการใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในกระบวนการผลิตข้าว

กระทรวงเกษตรฯ จัดงานวันรณรงค์การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เพื่อการผลิตข้าวแปลงใหญ่ผสมผสาน หนุนการใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในกระบวนการผลิตข้าว

          นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานวันรณรงค์การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เพื่อการผลิตข้าวแปลงใหญ่ ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) ปี 2561 พร้อมด้วย นายธัชชัย สีสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว ณ นาแปลงใหญ่ บ้านทุ่งรวงทอง ต.เขาคีริส อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร ว่า จากแนวโน้มทิศทางการทำเกษตรกรรมของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปจากการเกษตรแบบเดิม สู่การเกษตรสมัยใหม่ และการเกษตรอัจฉริยะที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ประกอบกับอนาคตของภาคเกษตรไทย กำลังเผชิญกับสภาวะการขาดแคลนแรงงาน เกษตรกรเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบการเกษตรไทยเป็นอย่างมาก เกษตรกร/ผู้ประกอบการ จึงค้นหาเทคโนโลยีนวัตกรรม หรือเครื่องจักรกลนำมาใช้ในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และปริมาณเพิ่มขึ้น รวมทั้งลดต้นทุนและแรงงานเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าได้ ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสู่การเกษตรอัจฉริยะหรือ Smart Agriculture ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิตทางการเกษตรสอดคล้องกับการพัฒนาที่มุ่งสู่ เกษตร 4.0 เพื่อทำให้อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะมาปรับใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภายใต้การผสมผสานการทำงานระหว่างโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ของกรมการข้าว และโครงการจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งการปรับเปลี่ยนพื้นที่ด้วยระบบ Laser (Laser land leveling)รถแทรกเตอร์แบบไร้คนขับ (Unmanned Tractor) ทำงานด้วยระบบดาวเทียมที่ได้รับการสนับสนุนจาก Hokkaido University ประเทศญี่ปุ่น และการสนับสนุนสัญญาณดาวเทียมจาก GISTDA และรถดำนาด้วยระบบอัตโนมัติ (Auto Guidance & Steering)เป็นตัน

          ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดจัดงานวันรณรงค์การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เพื่อการผลิตข้าวแปลงใหญ่ ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) ปี 2561 ขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ สำหรับการผลิตข้าวนาแปลงใหญ่ โดยมีการนำเทคโนโลยีการผลิตพืชมาใช้ในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเตรียมแปลง การปลูก การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยว ซึ่งงานดังกล่าวถือเป็นก้าวแรกของการขับเคลื่อนการทำการเกษตรอัจฉริยะในการผลิตข้าวนาแปลงใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประเทศญี่ปุ่น สำหรับเป็นต้นแบบในการทำการเกษตรอัจฉริยะ รองรับนโยบายประเทศไทย ๔.๐ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของภาคการเกษตรและเกษตรกรต่อไปในอนาคต

          ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า สืบเนื่องจากอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (น.ส.ชุติมา  บุณยประภัศร) ได้หารือกรอบความร่วมมือการบริหารจัดการด้านการเกษตรเชิงพื้นที่ด้วยนวัตกรรม Geo-informatics (GI) จัดโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ณ เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือน ก.ย.2560 ซึ่งได้ศึกษาดูงานภาคเกษตรกรรมในประเทศญี่ปุ่น และระบบเกษตรกรรมอัจฉริยะ (Smart Agriculture) พร้อมทั้งหารือเรื่องความร่วมมือด้านเกษตรกรรมอัจฉริยะกับนักวิจัยผู้คิดค้นแทรกเตอร์ไร้คนขับ และแนวทางความร่วมมือด้านการนำนวัตกรรมภูมิสารสนเทศมาใช้ในการทำการเกษตร ต่อมาจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนดำเนินการการจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ เป็นแปลงต้นแบบที่นำเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะมาใช้ในกิจกรรมการผลิตพืชให้เป็นรูปธรรม โดยนำร่องในแปลงพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง และข้าว ถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร นักวิจัย ผู้ประกอบการ ประชาชนที่สนใจ เรียนรู้ และนำไปใช้ประโยชน์

          ทั้งนี้ การเกษตรอัจฉริยะ เป็นแนวคิดการบริหารจัดการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ “เน้นผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ใช้ทรัพยากรในการผลิตเท่าที่จำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะให้ผลผลิตที่สูงสุด และมีความยั่งยืน” โดยอาศัยการบริหารจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่แบบอัจฉริยะอย่างครบวงจร สำหรับโครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ นำร่องในแปลงมันสำปะหลังและข้าวนั้น ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาพัฒนาการทำการเกษตรอัจฉริยะ ที่มีการนำเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม คือใช้ในทุกกิจกรรมการผลิตพืช รวมทั้งการเก็บข้อมูลในทุกขั้นตอนการผลิตพืช เพื่อใช้จัดทำ Big data ต่อไปในอนาคต โดยเทคโนโลยีการเกษตรที่นำมาใช้ในแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ ประกอบด้วย การใช้แทรกเตอร์ไร้คนขับ ร่วมกับเครื่องจักรกลเกษตรสมัยใหม่ การให้น้ำตามความต้องการของพืชโดยพิจารณาจากข้อมูลความชื้นของดิน และสภาพอากาศผ่านระบบเซนเซอร์ และ Internet of Things (IOT) การจัดทำแผนที่ความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยภาพถ่ายดาวเทียม การใส่ปุ๋ยตามความต้องการของพืชตามแผนที่ทางกายภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดิน การประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการตัดสินใจในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช การตรวจสอบการเจริญเติบโตของพืชโดยใช้โดรนและเทคโนโลยีประมวลผลจากภาพถ่ายระยะไกล เป็นต้น โดยมีพื้นที่แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะการผลิตมันสำปะหลังอยู่ที่ จ.นครราชสีมา และ จ.กำแพงเพชร ส่วนแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะการผลิตข้าว อยู่ที่จ.กำแพงเพชร และ จ.พระนครศรีอยุธยา

          ด้าน นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการนาแปลงใหญ่ของ จ.กำแพงเพชร ว่า หน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมบูรณาการให้มีการจัดตั้งนาแปลงใหญ่แล้วจำนวน 12 แปลง พื้นที่ 19,955 ไร่ เกษตรกร 835 ราย โดยสามารถยกระดับการผลิตข้าวของจังหวัดให้สูงขึ้นด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงการลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน มีความสะดวกในการปฏิบัติงาน และลดการใช้แรงงาน ตลอดจนส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรกรรมแม่นยำตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ การใช้เครื่องมือในกระบวนการทำนา จึงมีการสาธิตและจัดนิทรรศการในวันนี้ อาทิ การปรับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ รถแทรกเตอร์แบบไร้คนขับ เป็นต้น และในปี 2561 กรมการข้าวมีแผนการจัดตั้งกลุ่มเพิ่มขึ้นในปี 2561 จำนวน 21 แปลง โดยที่ อ.พรานกระต่าย มีการจัดตั้งกลุ่มนาแปลงใหญ่แล้ว 3 แปลง พื้นที่ 7,221 ไร่ เกษตรกร 322 ราย

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง