1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
รัฐมนตรีเกษตรฯ ร่วมเสวนาวิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ เทคออฟ 2018” มุ่งมั่นปฏิรูปภาคการเกษตร ตามศาสตร์พระราชา พร้อมใช้ตลาดนำการผลิต จับมือบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไกลอย่างมั่นคงและยั่งยืน
7 ก.พ. 2561
845
0
รัฐมนตรีเกษตรฯร่วมเสวนาวิสัยทัศน์
รัฐมนตรีเกษตรฯ ร่วมเสวนาวิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ เทคออฟ 2018” มุ่งมั่นปฏิรูปภาคการเกษตร ตามศาสตร์พระราชา พร้อมใช้ตลาดนำการผลิต จับมือบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไกลอย่างมั่นคงและยั่งยืน

รัฐมนตรีเกษตรฯ ร่วมเสวนาวิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ เทคออฟ 2018” มุ่งมั่นปฏิรูปภาคการเกษตร ตามศาสตร์พระราชา พร้อมใช้ตลาดนำการผลิต จับมือบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไกลอย่างมั่นคงและยั่งยืน

          นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสร่วมเสวนาวิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ เทคออฟ 2018” ในงานฉลองครบรอบ 15 ปี หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ พร้อมด้วย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมเสวนา ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็ลทรัลเวิลด์ ว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน ศูนย์กลางระบบคมนาคมขนส่ง และมีพื้นฐานแข็งแกร่ง อีกทั้งยังมีเกษตรกรรมเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ซึ่ง 1 ใน 3 ของประชากร หรือ 29.53 ล้านคน เป็นเกษตรกร โดยเป็นเกษตรกรยากจน 3.9 ล้านคน มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท/คน/ปี ซึ่งปัจจุบันภาคเกษตรกำลังเผชิญปัญหา อาทิ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด หนี้สินซ้ำซาก ต้นทุนสูง คุณภาพต่ำ เพราะยังขาดปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน คือ 1) ขาดความรู้ 2) ขาดเงินทุน และ 3) ไม่มีตลาดรองรับ ดังนั้นทางออกของภาคเกษตรไทย คือ การปฏิรูปภาคการเกษตร โดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน         

          “ปัญหาพืชผลที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ ยางพารา ซึ่งประเทศไทยผลิตยางพาราได้ราว 4 ล้านตัน/ปี แต่มีการใช้ยางในประเทศประมาณ 5 แสนตัน อีก 3 ล้านกว่าตันหรือกว่า 80% ส่งออกขายไปยังต่างประเทศ รัฐบาลจึงให้มีการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีบริหารจัดการใหม่ วางแผนการผลิตให้อุปสงค์ อุปทานเกิดความสมดุล และเป็นโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ จากวัตถุดิบที่มีคุณภาพที่เกษตรกรผลิตได้เอง โดยยางพารากว่า 70% ถูกนำไปใช้ผลิตยางรถยนต์ สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่มีการเติบโตมากขึ้น ประชากรมีรายได้สูงขึ้น อีกทั้งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง จีน เติบโตมีการสร้างถนน ใช้รถยนต์เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะมีการใช้ได้ใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นและกลับมามีราคาที่ดีขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

          ทั้งนี้ ในการปฏิรูปภาคเกษตรนั้น ต้องบูรณาการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรให้ตรงจุด ซึ่งวันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ประชุมหารือทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” โดยการทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว ภายในปี 2565 และในปี 2570 เกษตรกรที่ยากจน 3.9 ล้านคนต้องหมดไป โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลนี้ ได้สร้างคนรุ่นใหม่มาเป็น Young Smart Farmer ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 7,598 ราย และยังมุ่งเน้นให้เป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร โดยสร้างระบบสหกรณ์การเกษตรที่เข้มแข็ง และวิสาหกิจชุมชนให้เป็นที่พึ่งของเกษตรกร ตลอดจนกำลังจะสร้างระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตร (Big Data on Agriculture) เพื่อการบริหารจัดการด้านการเกษตรที่ถูกต้องแม่นยำ

          ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้าร่วมประชุมทูตเกษตร 8 ประเทศ 11 แห่งทั่วโลก โดยเน้นย้ำให้ต้องทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ด้านเกษตรในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ทั้งรายงานสถานการณ์และความต้องการสินค้าเกษตรในประเทศนั้น ๆ และให้ข้อมูลข่าวสารด้านเกษตรที่ถูกต้อง พร้อมทั้งต้องหาช่องทางการค้า ตลาดใหม่ เชื่อมตลาดโลก หรือ “ตลาดนำการผลิต” และต้องร่วมมือกับผู้ช่วยทูตพาณิชย์อย่างแข็งขัน มุ่งมั่นหาความต้องการสินค้าเกษตรมา แล้วบอกเกษตรกรว่า ตลาดต้องการสินค้าอะไร โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ต้องเข้าไปควบคุมคุณภาพ และประสานการจำหน่ายร่วมกับกระทรวง ในส่วนของข้าราชการกระทรวงเกษตรนั้น ต้องเป็นนักวางแผน รอบรู้เรื่องเกษตร มีมุมมองกว้างไกล รู้จริง ทำจริง มุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงาน เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ชาติ และส่วนรวม และต้องเป็นโซ่ข้อกลางของภาครัฐกับภาคเอกชน ประชาชน ทำงานต้องยึดหลักประชารัฐ โดยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด คือ 1. ระดับนโยบาย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ 2. ระดับพื้นที่ แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ 1) ฝ่ายอำนวยการ โดยเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และ 2) ฝ่ายปฏิบัติการ โดยมีเกษตรจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำงานร่วมกับเกษตรอำเภอ ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่และขับเคลื่อนนโยบาย

          อย่างไรก็ตาม ยังต้องพัฒนาสถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน ให้มีความรู้ในเรื่อง การบริหาร กิจการค้าขาย ให้ทุน เพิ่มบทบาท คุ้มครองเกษตรกรสมาชิกไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ จำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการอุตสาหกรรม และกระทรวงการพาณิชย์ เพื่อเชื่อมโยงทุกข้อต่อให้เป็นห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง อีกทั้ง หากภาคเกษตรไทยสามารถปรับตัวได้ทัน Take Off Thailand จะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อีกไกล และภาคเกษตรจะเป็นตัวสำคัญขับเคลื่อนประเทศไทย ทั้งหมดนี้ จะเป็นอนาคตของภาคเกษตรไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมแล้วที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน ภายใต้นโยบาย “ต่อ เติม แต่ง” คือ เปิดกว้าง รับฟัง นำสิ่งที่ดีมาปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง