1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
‘มนัญญา’ ลงใต้ สำรวจความเสียหายโรคใบร่วงยางพารา พร้อมตรวจสหกรณ์สวนยาง
13 พ.ย. 2562
529
0
ลงใต้
‘มนัญญา’ลงใต้สำรวจความเสียหายโรคใบร่วงยางพารา
‘มนัญญา’ ลงใต้ สำรวจความเสียหายโรคใบร่วงยางพารา พร้อมตรวจสหกรณ์สวนยาง

‘มนัญญา’ ลงใต้ สำรวจความเสียหายโรคใบร่วงยางพารา พร้อมตรวจสหกรณ์สวนยาง ดันสินค้าเกษตรเข้าซุปเปอร์มาเก็ตพระนครเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ที่มั่นคง

      นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านป่าไผ่ จำกัด ณ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ตลอดจนตรวจเยี่ยมแปลงยางพาราของเกษตรกรที่ประสบปัญหาโรคใบร่วงยางพารา ว่า จ.นราธิวาส มีสหกรณ์ที่ดำเนินกิจการอยู่ขณะนี้ จำนวน 64 แห่ง สมาชิกจำนวน 70,366 คน   เป็นสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจยางพารา 7 แห่ง สำหรับกองทุนสวนยางบ้านป่าไผ่ จำกัด มีสมาชิก 122 คน มีทุนดำเนินงาน 1,842,043 บาท ได้รับการจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ปี 2562 อยู่ในระดับดีมาก ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส การยางแห่งประเทศไทยนราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้การสนับสนุนด้านความรู้การบริหารจัดการสหกรณ์การดำเนินธุรกิจ กองทุนหมุนเวียน และอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่สหกรณ์ 

      “รัฐบาลได้มีโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางในประเทศ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้ให้สูงขึ้นให้กับเกษตกร โดยในวันนี้ทางสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านป่าไผ่ถือได้ว่าเป็นสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็ง และมีการดำเนินกิจการ 2 แบบ คือ จัดหาสินค้ามาจำหน่าย และรวบรวมผลผลิตน้ำยางสดเพื่อจำหน่าย โดยมีสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มคือถุงมือเคลือบยางพารา ซึ่งได้ประสานกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการนำสินค้าดังกล่าวไปวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาเก็ตสหกรณ์พระนคร เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทำให้ทุกคนกลับมาใช้ยางให้มากขึ้น และสอดคล้องกับนโยบายตลาดนำการผลิตอีกด้วย” นางสาวมนัญญา กล่าว 

       สำหรับสถานการณ์โรคใบร่วงยางพารา ในจังหวัดนราธิวาสนั้น ขณะนี้มีพื้นที่การเกิดโรคใบร่วงยางพาราจำนวน 12 อำเภอ 56 ตำบล พื้นที่ 365,483 ไร่ หรือร้อยละ 37.81 (ข้อมูล ณ วันที่ 5 พ.ย. 62) โดยต้นยางพาราที่เกิดปัญหามีลักษณะใบยางไหม้ ใบหยิก มีจุดสีน้ำตาลเป็นวงกลม และร่วงหล่น ผลผลิตน้ำยางลดลง มีพื้นที่พบการระบาดรุนแรงมากกว่า 50% ของพื้นที่ปลูกยางพารา จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แว้ง 88.51% อ.ระแงะ 72.76% อ.สุไหงปาดี 68.24% และ อ.สุคิริน 51.97% ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวสวนยาง โดยการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาสดำเนินโครงการ “การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อบรรเทาสถานการณ์การระบาดของโรคที่เกิดจาก เชื้อรา Pestalotiopsis sp. ในเขตภาคใต้ตอนล่าง” โดยการใช้โดรน หรือเครื่องฉีดสารแรงดันสูง ฉีดพ่นสารกำจัดเชื้อราในสวนยางพาราของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะดำเนินการในวันที่ 15 พ.ย. 62 ณ สวนยางพารา ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส นอกจากนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาสได้จัดทำแปลงเรียนรู้การจัดการโรคใบร่วงยางพารา พร้อมทั้งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคใบร่วงยางพาราให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดตรวจพบว่าสวนยางพาราเกิดโรคใบร่วง แนะนำให้เกษตรกรลดความถี่ในการกรีดยาง ไม่ควรกรีดติดต่อกันทุกวัน หรือหากเกิดโรคใบร่วงอย่างรุนแรง เกษตรกรควรหยุดกรีดยาง เพื่อให้ต้นยางพาราได้หยุดพัก สำหรับสวนยางที่ยังไม่มีการระบาด แนะนำให้เกษตรกรกรีดยางอย่างถูกวิธีรวมทั้งกำจัดวัชพืชในสวนให้สะอาด อยู่เสมอ ตลอดจนการขุดหลุมกวาดใบยางที่เป็นโรคใส่ในหลุมจากนั้นราดด้วยเชื้อไตรโคเดอร์มาชนิดสด 

      “การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเร่งสำรวจความเสียหายและรายงานให้รัฐบาลทราบ อย่างไรก็ตามได้ให้กรมวิชาการเกษตรศึกษาวิธีการป้องกันที่ถาวรเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นอีก นอกจากนี้ เกษตรกรจะต้องได้รับการฝึกอบรมทุกครั้งเพื่อเรียนรู้วิธีการป้องกันและการแก้ไขที่ถูกต้อง เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรมีความรู้นำไปพัฒนาต่อยอดได้” นางสาวมนัญญา กล่าว

 

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง