1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
รมช.ประภัตร ประธานเปิดการประชุม ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. ....
21 พ.ย. 2562
508
0
สัตวบาล
รมช.ประภัตรประธานเปิดการประชุม
รมช.ประภัตร ประธานเปิดการประชุม ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. ....

ภาครัฐจับมือภาคเอกชนจัดเวทีรับฟังและแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พรบ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. .... เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพสัตวบาลให้มีมาตรฐานเดียวกัน สู่การพัฒนาด้านการผลิตและการเลี้ยงสัตว์

     นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังและแสดงความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. ....  ณ ห้องเจ้าพระยาบอลรูม โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ ว่าร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. .... ฉบับนี้ ถูกผลักดันโดยสมาคมสัตวบาล ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ. 2559 และความเห็นชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เห็นถึงความสำคัญของอาชีพการผลิตสัตว์ให้มีคุณภาพเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภคสัตว์เป็นอาหาร เป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตสัตว์ของประเทศ เพื่อประโยชน์ทางการค้า เศรษฐกิจ การศึกษาวิจัยทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของอาหารต่อผู้บริโภค สนับสนุนนโยบายรัฐบาล ในการเป็นครัวของโลก อันเป็นประโยชน์ต่อการผลิตปศุสัตว์ ประกอบกับในปัจจุบัน สถาบันการศึกษา มีการผลิตบุคลากรสาขาวิชาชีพนี้ออกมาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี  ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพสัตวบาล พ.ศ. ....  

     สำหรับการประชุมเพื่อรับฟังและแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อแสดงความคิดเห็นร่างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ทั้งนี้  เพื่อสรุปความคิดเห็นทั้งหมดเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยการประชุมครั้งที่ 1 ได้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นไปแล้วเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 และได้สรุปความคิดเห็นทั้งหมดเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สำหรับการประชุมในวันนี้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนที่มาประชุมได้ทราบและเข้าในร่างพระราชบัญญัตินี้ตรงกัน และแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ นายประภัตรกล่าว

     “การรับฟังและแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พรบ. ในครั้งนี้ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีและพร้อมสนับสนุน เนื่องจากสัตวบาลนั้นมีความสำคัญ มีหน้าที่ในการดูแลสัตว์ในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบที่จะมาใช้เป็นอาหารสัตว์ การจัดการสภาพแวดล้อมในการเลี้ยง โรงเรือน การจัดการด้านสายพันธุ์และการขยายพันธุ์สัตว์ ตลอดจนการจัดการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเลี้ยงสัตว์ให้มีคุณภาพเป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค เป็นต้น อีกทั้ง ปัจจุบันสินค้าเกษตรหลายชนิดเกิดปัญหา จึงต้องให้ความสำคัญด้านปศุสัตว์มากยิ่งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนภาคเกษตร ที่สำคัญต้องหาแนวทางร่วมกัน จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยในการบริโภคสัตว์ เพราะวันนี้สุขภาพคนสำคัญ” นายประภัตร กล่าว 

     ด้าน นายวุฒิพงศ์  อินทรธรรม  ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาพันธุ์โคเนื้อ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อตั้งมา 43 ปี มีสมาชิกรวม 3,500 คน และปัจจุบันมีบุคลากรที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปและต่ำกว่าปริญญาตรี ด้านสัตวบาล จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ 107 แห่ง ปีละไม่น้อยกว่า 3,000 คน  เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพสัตวบาลให้มีมาตรฐานเดียวกัน และเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการผลิตและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญด้านเศรษฐกิจ สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้ดำเนินการเพื่อขอออกพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล อย่างต่อเนื่องมา 15 ปี โดยมีการจัดทำประชาพิจารณ์ พรบ. ดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นฉบับที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาลมีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อส่งเสริมการประกอบวิชาชีพการสัตวบาล 2. กำหนดและควบคุมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพการสัตวบาล  และ 3. ควบคุมมิให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคลซึ่งไม่มีความรู้ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการผลิตสัตว์ของประเทศ 

   นายวุฒิพงศ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมรับฟังและแสดงความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาลในครั้งนี้ได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา องค์กรภาคเอกชน สมาคมทางด้านปศุสัตว์ เกษตรกร รวมทั้งสื่อมวลชน มาร่วมประชุมรับฟังและแสดงความคิดเห็น ต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว รวมประมาณ 150 คน ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้กิจการด้านปศุสัตว์มีความเจริญก้าวหน้า มั่นคงและยั่งยืนสืบไป

 

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง