1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมแผนเชิงรุก ระดมกำลังตั้งป้อมช่วยเกษตรกรชาวสวน
26 ก.พ. 2563
766
0
ฤดูผลไม้ออกตามฤดู ปี 63
กระทรวงเกษตรฯเตรียมแผนเชิงรุกระดมกำลังตั้งป้อมช่วยเกษตรกรชาวสวน
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมแผนเชิงรุก ระดมกำลังตั้งป้อมช่วยเกษตรกรชาวสวน

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมแผนเชิงรุก ระดมกำลังตั้งป้อมช่วยเกษตรกรชาวสวน ทั้งจากช่วงฤดูผลไม้ออกตามฤดู ปี 63 และวิกฤตไวรัสโควิค-19 ที่ส่งผลให้ตลาดจีนซื้อผลไม้ลดลง เล็งใช้กลไกสหกรณ์เป็นหลัก ลุยเพิ่มปริมาณการบริโภคทั้งจากคนไทยทั่วประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยระบบตลาดแบบออนไลน์และออฟไลน์

     นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ผลไม้ในฤดูกาลผลิต ปี 2563 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่า จะมีผลไม้จากพื้นที่ปลูกทั่วประเทศออกสู่ตลาดตลอดฤดูกาล ดังนี้ ผลผลิตมังคุด เงาะ ทุเรียน ลองกองของภาคตะวันออก มีผลผลิตออกระหว่างเดือนเมษายน - มิถุนายน และมีปริมาณมากในช่วงเดือนมิถุนายน ส่วนผลผลิตลำไยและลิ้นจี่ ของภาคเหนือนั้น สำหรับลิ้นจี่จะออกระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน และลำไยจะออกระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ขณะที่ทางภาคใต้ จะมีผลผลิตมังคุด เงาะ ทุเรียน และลองกองออกระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม และจะมีปริมาณสูงสุดในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 

    “ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ หรือ Fruit Boardที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2563 ที่มุ่งเน้นว่าจะต้องมีข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้อได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้จังหวัดสามารถบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมีนโยบายในการบริหารจัดการตลาดผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ ในเรื่องต่าง ๆ ทั้งแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ในปีนี้ เน้นการปรับสมดุลระหว่างปริมาณผลผลิต (Supply) และปริมาณความต้องการของตลาด (Demand) เพื่อยกระดับคุณภาพและราคาผลผลิตให้แก่เกษตรกร ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมถึงนโยบายของรัฐบาล นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายอลงกรณ์กล่าว

     ด้านกรมส่งเสริมการเกษตร ได้การดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ โดยมีการกำหนดแผนการทำงาน ประกอบด้วย1) ด้านการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ ซึ่งมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลัก ทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพผลไม้ทั้งในและนอกฤดู การส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP และการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านไม้ผล 2) ด้านการบริหารจัดการเชิงปริมาณ ปรับสมดุลข้อมูลของอุปสงค์และอุปทาน โดยกระทรวงเกษตรฯ ชี้เป้าการผลิตให้ชัดเจน โดยจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต (Supply) ส่วนกระทรวงพาณิชย์เชื่อมโยงและหาตลาดรองรับผลผลิต โดยจัดทำข้อมูลความต้องการทางการตลาด (Demand) ตลอดจน คพจ. ปรับสมดุลข้อมูลของอุปทานและอุปสงค์และจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุรองรับปริมาณผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผลผลิตออกมาก ซึ่งมุ่งหวังให้เกษตรกรยังสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม มีราคามาตรฐานที่เกษตรกรขายได้ไม่ต่ำกว่า ต้นทุน + กำไร 30% โดยมาตรการจะจัดทำเป็นแผนบริหารจัดการเชิงรุก มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบด้านการผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน GAP, มกษ. สถานประกอบการ (ล้ง) ผ่านการรับรอง GMP และกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบด้านการตลาด การกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ให้มีความคล่องตัว การผลักดันการส่งออก การเปิดตลาดต่างประเทศแห่งใหม่ เช่น อินเดีย ส่งเสริมการจำหน่ายผลผลิตผ่านช่องทางสมัยใหม่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์และ 3) การบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน ทั้งกลไกปกติ และมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดผลผลิตส่วนเกินในช่วง peak โดยเฉพาะทุเรียนต้องเตรียมแผนรองรับการส่งออกไปจีน ซึ่งเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา จะต้องวางแผนการกระจายผลผลิตทั้งในและต่างประเทศ การเพิ่มมูลค่าผลผลิต เช่น การแปรรูป การแช่แข็ง รวมถึงประชาสัมพันธ์กระตุ้นการบริโภคในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ จนสิ้นสุดฤดูกาล

     ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กำหนดกระบวนการบริหารจัดการผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ ประกอบด้วย1) กระบวนการบริหารจัดการผลไม้ของสหกรณ์ สหกรณ์จะทำหน้าที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพให้กับสมาชิก การส่งเจ้าหน้าที่ตรวจเยี่ยมแปลงเป็นรายสมาชิกในช่วงระยะเวลาของการดูแลรักษาแปลงการผลิต 2) เมื่อถึงฤดูกาลผลไม้ สมาชิกเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต สหกรณ์จะจัดส่งตะกร้าผลไม้ให้สมาชิกคัดแยกเกรดผลไม้ ก่อนจะรวบรวมและส่งมายังโรงคัดแยกของสหกรณ์ ซึ่งตะกร้าผลไม้จะช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องการรวบรวมผลไม้ การขนส่ง และรักษาคุณภาพผลผลิต 3) สหกรณ์คัดแยกเกรดผลไม้ที่รวบรวมจากสมาชิกอีกชั้นหนึ่ง ก่อนจะจัดส่งผลผลิตออกสู่ตลาด 4) สำหรับผลการจำหน่ายผลไม้ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรในฤดูกาลผลิต ปี 2562 ที่ผ่านมา มีปริมาณการรวบรวม 32,242.53 ตัน มูลค่า 966,173,773.43 ล้านบาท จำหน่ายในช่องทางการตลาด ทั้งคู่ค้าภายในประเทศ การส่งออกผ่านตัวแทน การจำหน่ายผ่าน Modern Trade หรือห้างค้าปลีก เครือข่ายสหกรณ์ และการรวบรวมเผื่อแปรรูป โดยในแผนการปฏิบัติงานผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ปี 2563 สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรในภาคตะวันออก เหนือ และภาคใต้ ที่ดำเนินการรวบรวมและจำหน่ายผลไม้ มีจำนวน 104 แห่ง ใน 31 จังหวัด และสหกรณ์ทั่วประเทศมีแผนในการรวบรวมผลไม้จากสมาชิก จำนวน 40,000 ตัน เพื่อกระจายผลผลิตไปยังตลาด Modern Trade, เครือข่ายสหกรณ์, ผู้ส่งออกผลไม้ และผู้ประกอบการค้าทั่วไปและ 5) ประสานและจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์ เพื่อรับซื้อผลไม้จากสหกรณ์ผู้ผลิต โดยผ่านศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์(CDC) ทั่วประเทศ เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยกระจายสินค้าผลไม้ออกนอกแหล่งผลิตได้รวดเร็ว

      “ทั้งนี้ กลไกสหกรณ์จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งในด้านคุณภาพและราคาผลผลิตแก่เกษตรกร โดยการนำกลไกสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการผลไม้ ส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร และช่วยขยายช่องทางการตลาดผลไม้แก่เกษตรกร อีกทั้งนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้ให้การสนับสนุนโรงคัดแยกผลไม้ อุปกรณ์การตลาด และเงินทุนรวบรวมผลผลิตแก่สหกรณ์ ส่งผลทำให้ผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์มีการคัดเกรดคุณภาพ ซึ่งขายได้ในราคาที่ดีกว่าการขายแบบคละ ขณะเดียวกันสหกรณ์สามารถซื้อผลผลิตจากสมาชิกในราคาสูงกว่าตลาดกิโลกรัมละ 0.50 - 1 บาท ด้วย” นายวิศิษฐ์ กล่าว

     ขณะเดียวกัน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิค-19ที่แพร่ระบาดหนักในประเทศจีน และอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่จะมีสินค้าผลไม้ของประเทศไทยว่า จากการวิเคราะห์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า ในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวนั้น ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 คือระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม คาดว่านักท่องเที่ยวจะหายไป 2 ล้านคนแต่หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อไปอีก 6 เดือน หรือถึงเดือนมิถุนายน (มกราคม-มิถุนายน 2563) จำนวนนักท่องเที่ยวจะหายไป 4.37 ล้านคน 

     ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทย นายอลงกรณ์ชี้ว่า ความต้องการสินค้าเกษตรไทยภาพรวมลดลงในระยะสั้น โดยเฉพาะผักและผลไม้สด โดยกระทรวงเกษตรฯได้ประมาณการมูลค่าการส่งออก ผัก ผลไม้สด ในช่วง 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2563) ลดลงร้อยละ 0.33  เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดไปจีนในปี 2562 หรือคิดเป็นมูลค่า 940 ล้านบาท  แต่หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อไปอีก 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2563) จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ผักผลไม้ลดลง เป็นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดไปจีนในปี 2562 หรือคิดเป็นมูลค่า 5,278 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงให้ผลของ ทุเรียน และมังคุด ซึ่งกว่าร้อยละ 50 ผลผลิตทุเรียนส่งออกไปยังตลาดจีน โดยเฉพาะทุเรียนสด

      นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า  ในส่วนของมาตรการรองรับที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมเพื่อดำเนินนั้น จะเน้นการใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาช่วย เหมือนกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับการแก้ไจปัญหาเกลือทะเลของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย โดยการใช้กลไกของสหกรณ์นี้เชื่อมั่นว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาปริมาณส่งออกผลไม้ที่ลดลง และแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด ด้วยการประสานกับสหกรณ์ทั่วประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงและกระจายสินค้าให้กับผู้ประกอบการจำหน่ายผลผลไม้ในท้องถิ่น รวมถึงผู้บริโภคที่เป็นสมาชิก ผ่านระบบตลาดทั้งในรูปแบบของออนไลน์ และออฟไลน์ รวมถึงกระบวนการของlogistic เพื่อเพิ่มความต้องการบริโภคผลไม้ในประเทศให้มากขึ้น ทั้งจากคนไทยทั้ง 70 ล้านคนทั่วประเทศ และนักท่องเที่ยวจากชาติต่างๆที่เข้ามาท่องเที่ยวอีกไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน ซึ่งเชื่อแน่นอนว่าช่วยให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้สามารถผ่านสถานการณ์ในครั้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน

 

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง