1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
สวก. ขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผนึกกำลังพันธมิตร ยกทัพงานวิจัยนำสมุนไพรไทยก้าวสู่พืชเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ พร้อมร่วมผลักดันประเทศสู่ Thai Agri Herb Health
1 ต.ค. 2564
1,754
0
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนา สมุนไพรไทย ให้ก้าวสู่อนาคตพืชเศรษฐกิจ ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง โดยใช้การตลาดเป็นตัวนำการผลิตเพื่อกระตุ้นการขยายตลาดให้เติบโตในทุกช่องทาง เพิ่มทางเลือกให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนทุนวิจัย
สวก.ขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผนึกกำลังพันธมิตร
สวก. ขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผนึกกำลังพันธมิตร ยกทัพงานวิจัยนำสมุนไพรไทยก้าวสู่พืชเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ พร้อมร่วมผลักดันประเทศสู่ Thai Agri Herb Health

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยด้านการเกษตรของประเทศ ได้แสดงบทบาทสำคัญในการจัดการโครงการวิจัยด้านสมุนไพรของไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยริเริ่มและลงมือผลักดันให้เกิดการจัดระเบียบและกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้านสมุนไพรให้มีทิศทางที่ชัดเจน ก่อให้เกิดฐานข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรไทยในด้านต่างๆ อาทิ ข้อมูลด้านประสิทธิภาพ (Efficiency Data) ข้อมูลด้านคุณภาพ       (Quality Data) และข้อมูลด้านความปลอดภัย (Safety Data) เพื่อวิจัยและพัฒนาต่อยอดสมุนไพรไทยในด้านการรักษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งผลการวิจัยที่ได้จากโครงการต่างๆ ต้องมีเป้าหมายผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยดำเนินงานตามนโยบายพืชอนาคตพืชเศรษฐกิจในทุกมิติในยุค COVID - 19 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง โดยใช้ตลาดเป็นตัวนำการผลิต เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยตั้งแต่การกำหนดโจทย์วิจัยที่ตรงตามความต้องการของตลาด พร้อมร่วมขับเคลื่อนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใน 3 แนวทาง คือ ป้องกัน-รักษา-ฟื้นฟู ด้วยงานวิจัยสมุนไพรและตำรับยาไทยเสริมการแพทย์แผนปัจจุบัน

สวก. ได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านการตลาดตลอดห่วงโซ่การผลิตสมุนไพรไทย เพื่อประเมินศักยภาพในการแข่งขันด้านการตลาด การค้า และการลงทุนของประเทศ โดยเปรียบเทียบกับตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอางและยาสมุนไพรในตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการตลาด สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และกำหนดนโยบายในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย โดยทำการศึกษาในเมืองสมุนไพร 14 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสินค้าสมุนไพรเป้าหมาย 12 ชนิด (ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1) โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ได้นำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566-2570 ทั้งนี้ สวก. ให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิต อาทิ โครงการ “การพัฒนาระบบต้นแบบรับรองวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพรสู่เชิงพาณิชย์” โดย “มูลนิธิสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” เพื่อให้ได้ระบบการรับรองวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพร และภายใต้การดำเนินงาน สวก. ได้ร่วมมือกับ อย. เพื่อให้คำปรึกษาในการพัฒนาข้อเสนอโครงการและให้ข้อเสนอแนะสำหรับโครงการวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วถึงแนวทางการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับ อย. ในลักษณะ Proactive Consultation

การพัฒนายาจากกัญชาสำหรับใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้สภาวะการปลูก         การเก็บเกี่ยวกัญชา ในโรงเรือนแบบปิด ได้วัตถุดิบใบกัญชาที่มีคุณภาพสำหรับนำไปพัฒนาตำรับศุขไสยาศน์        และสำราญนิทรา รวมถึงพัฒนาระบบการจัดการและฐานความรู้สมุนไพรไทยแบบครบวงจร เพื่อใช้เป็นฐานความรู้ของสมุนไพรกัญชาในประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกผ่านแชทบอทเพื่อให้ความรู้ในการนำกัญชาไปใช้ ด้วยระบบ เอไอ (AI) เพื่อตอบคำถามให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน โดยมีกลุ่มเป้าหมายระยะแรก คือ กลุ่มประชาชน และผู้ป่วย และในระยะถัดไปจะขยายไปสู่ผู้ประกอบการ

                การพัฒนาฤทธิ์ของสารสกัดจากกัญชง เพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อให้ได้สารสกัดที่ได้มาตรฐาน เพื่อนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชงสำหรับใช้แก้ปวด แผ่นปิดแผลไฟโบรอินผสมแคนนาบิไดออลจากกัญชงสำหรับรักษาแผลที่หายช้า ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดกัญชงทำความสะอาดช่องปากสำหรับผู้ป่วยที่มีแผลในช่องปาก เป็นต้น

การพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม เพื่อจำแนกกลุ่มสายพันธุ์เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะในการใช้บริโภคทางยาและการส่งออกที่ได้มาตรฐาน สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถใช้เป็นยาบำบัดสำหรับผู้ที่ติดยาเสพติดได้ในอนาคต

การพัฒนาตำรับยาเม็ดฟ้าทะลายโจรที่มีสารสำคัญสูงและมีเสถียรภาพ โดยความร่วมมือกับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และภาคเอกชน ในการพัฒนาตำรับยาเม็ดสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสารสำคัญปริมาณสูงในการผลิตระดับอุตสาหกรรม รวมถึงผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นปากผสมสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่สามารถยับยั้ง/ฆ่าเชื้อไวรัส กลุ่ม Influenza virus, Herpes simplex virus (HSV) ซึ่งเป็น enveloped virus ที่ใช้เป็นตัวแทนของ SARS-CoV-2 ได้

นอกจากงานวิจัยสมุนไพรเดี่ยว สวก. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ         พัฒนา ตำรับยาห้าราก (รากชิงชี่ รากย่านาง รากคนทา รากมะเดื่อชุมพร รากท้าวยายม่อม) ซึ่งสามารถใช้ยับยั้งและทำลายการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสโคโรนา

ตำรับยาเทพรังษิต รักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โดยร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของตำรับยาเทพรังษิต ในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โดยจะต่อยอดสู่กระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไป

สำหรับการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางด้านการวิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพรนั้น สวก. ได้ดำเนินการตั้งแต่การพัฒนาวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการต้นน้ำของอุตสาหกรรม โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน อีกทั้ง สวก. ได้ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการด้านวัตถุดิบสมุนไพร ภายใต้คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมุนไพร ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยต่างๆ ในการพัฒนาและผลักดันพืชสมุนไพรให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็น   ที่ยอมรับ และสามารถได้รับการรับรองให้ตำรับยาสมุนไพรขึ้นทะเบียนในบัญชียาหลักได้ในอนาคต รวมถึงได้ดำเนินการรวบรวมคลังข้อมูลงานวิจัยด้านการเกษตรเพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลงานวิจัยด้านสมุนไพร พืชเศรษฐกิจและสัตว์เศรษฐกิจ ให้ประชาชนและผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้บนเว็บไซต์ https://www.arda.or.th/kasetdata.php ด้วยความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้สมุนไพรไทยมีมาตรฐานและได้รับยอมรับในระดับสากล จนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลักประเภทหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้นำเข้าประเทศได้มากยิ่งขึ้นและกลายเป็นความได้เปรียบที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและการได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายงานวิจัย สวก. มั่นใจอย่างยิ่งว่าจะสามารถพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมกลุ่มสมุนไพรให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลทางการผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่    โดยการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจให้เป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 3 ปี ท้ายที่สุดเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง