นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0เปิดเผยวันนี้ (30พ.ค.) ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังเร่งเครื่องอัพเกรดบริการภาครัฐ ( e-Service ) สู่กระทรวงเกษตร 4.0 เพื่อยกระดับศักยภาพและประสิทธิภาพภาคเกษตรภายใต้ “5 ยุทธศาสตร์” และนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสไทยในฐานะครัวโลกในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหารจากผลกระทบของโควิด19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 22 หน่วยงาน กําหนดเป้าหมายแรกให้บริการแก่ประชาชน ในรูปแบบบริการอีเล็คทรอนิกส์ (e-Service) รวม 176 ระบบ โดยได้ดําเนินการแล้วเสร็จและให้บริการเรียบร้อยแล้วจํานวน 167 ระบบ และอยู่ระหว่างการพัฒนา 9 ระบบ ซึ่งคาดว่าจะดําเนินการพัฒนาให้แล้วเสร็จภายในปี 2565
สําหรับระบบริการ จะมุ่งเน้นให้บริการครอบคลุมตลอดวัฏจักรการทําการเกษตร ตั้งแต่การวางแผนการผลิต จนถึงการตลาด อาทิ ระบบตรวจสอบดิน (กรมพัฒนาที่ดิน) ระบบโปรแกรมประยุกต์การคํานวณการให้อาหารกุ้งทะเล (Feed App) (กรมประมง) ระบบการขอใบอนุญาตนําหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร (ร.3 /ร.4 /ร.5) (กรมปศุสัตว์) ระบบงานยื่นคําขอและออกใบสําคัญขึ้นทะเบียน/ใบรับรอง/ใบอนุญาตนําเข้าปุ๋ย (กรมวิชาการเกษตร) รวมทั้งยังมีระบบที่เชื่อมโยง ข้อมูลกับระบบ National Single Window (NSW) ของกรมศุลกากร เพื่อการออกใบอนุญาตที่สําคัญต่าง ๆ ใบสําคัญใน การนําเข้า-ส่งออก หรือการรับรองผลการตรวจสุขอนามัยพืชและสัตว์ (จํานวน 55 ระบบ)
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการอํานวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไปให้สืบค้นข้อมูลได้ อย่างรวดเร็วและเข้าถึงการบริการ e-Service ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ของกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทํา Web Application “ระบบบริการภาครัฐ: http://mis.oae.go.th/rservice” เพื่อเป็น ช่องทางกลางในการเข้าถึงบริการ e-Service ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย “ระบบบริการภาครัฐ” มีเมนูจําแนกตามกิจกรรมบริการที่สอดคล้องกับวัฏจักรการทําการเกษตรทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) การวางแผนการผลิต 2) การหาปัจจัยการผลิต 3) การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ดูแลรักษา 4) การเก็บเกี่ยว 5) การแปรรูป การเพิ่มมูลค่าและ 6) การตลาด การจําหน่าย นอกจากนี้ ยังมีเมนูพิเศษอื่น ๆ เพื่อการสืบค้นและสามารถเข้าถึงงานวิจัย ตลอดจน รายชื่อองค์ความรู้เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (ศูนย์ AIC 77จังหวัด) โดยผู้ใช้งานสามารถค้นหาระบบ e-Service ที่ต้องการได้ทันที และระบบจะเชื่อมโยงไปถึงระบบ e-Service ของหน่วยงานต้นทางที่พร้อมให้บริการได้อย่างสะดวก รวดเร็วและง่าย ต่อการใช้งาน
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมที่จะขับเคลื่อน การพัฒนาศูนย์ข้อมูล (Big Data) และรัฐบาลเทคโนโลยี (Gov Tech) ให้มีระบบ e-Service เพื่อ ให้บริการเพิ่มขึ้น ตลอดจนปรับเปลี่ยนระบบการทํางานหรือการให้บริการแบบเดิมมาสู่รูปแบบดิจิทัล ซึ่งสอดรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทํางานให้กลายเป็นองค์การดิจิทัล (Digital Organization) โดยเร็วที่สุดอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด.