นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนงานตามภารกิจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยวางระบบการตรวจสอบการเงินการบัญชีของสหกรณ์ที่ครอบคลุมทั้งด้านการบริหารจัดการและการประเมินประสิทธิภาพระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ได้รับการตรวจสอบบัญชีที่เป็นไปตามมาตรฐาน มีระบบการควบคุมภายในที่ดี สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิก โดยในปัจจุบันมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ต้องเข้าปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชี จำนวน 11,800 แห่ง ได้เข้าดำเนินการแล้ว จำนวน ๙,๘๑๖ แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ ๘๓.๑๙ โดยมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่สามารถนำงบการเงินเสนอเข้าที่ประชุมใหญ่ได้ ๖,๖๑๑ แห่ง ซึ่งทำให้สมาชิกได้รับทราบ
ผลการดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานของสหกรณ์ที่มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการเกิดเหตุทุจริตในสหกรณ์หลายแห่ง กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงมีมาตรการเชิงรุกในการยกระดับมาตรฐานการสอบบัญชีให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการพัฒนาระบบการตรวจสอบบัญชีและการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชี ดังนี้
๑. การพัฒนาระบบการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ กรมฯ ได้เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบบัญชี ทั้งด้านความถูกต้อง ความแม่นยำ และความรวดเร็วในการทำงาน โดยดำเนินการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั้งในรูปแบบการเป็นผู้สอบบัญชีเอง และการควบคุมกำกับคุณภาพงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ให้ทำการตรวจบัญชีอย่างโปร่งใส เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้สหกรณ์สามารถใชประโยชนจากผลการตรวจสอบบัญชีและขอสังเกตจากผูสอบบัญชีไปปรับปรุงการบริหารจัดการและอํานวยประโยชนแกมวลสมาชิกโดยรวม เพื่อใหการสอบบัญชีสหกรณเปนไปอยางมีประสิทธิภาพและสอดคลองตามมาตรฐานการสอบบัญชี ทั้งนี้ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบบัญชี และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการตรวจสอบบัญชีโดยเคร่งครัด ตลอดจนต้องมีการให้ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสหกรณ์
ทั้งนี้ ยังมุ่งเน้นการสร้างระบบการควบคุมภายในที่ดีในสหกรณ์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะส่งผลให้สหกรณ์สามารถป้องกันการทุจริตได้ โดยหากมีการตรวจสอบพบข้อสังเกตเกี่ยวกับการควบคุมภายใน หรือพบการทุจริตในสหกรณ์ ผู้สอบบัญชีจะต้องเสนอข้อสังเกตให้ผู้บริหารของสหกรณ์ทราบโดยเร็วเพื่อให้การปฏิบัติงานสอบบัญชีเป็นไปตามมาตรฐาน รวมไปถึง
การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มีระบบการเงินการบัญชีและมีการควบคุมภายในที่ดี อาทิ การส่งเสริมการจัดทำบัญชีสหกรณ์ด้วยโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร (FAS) เพื่อช่วยให้การบันทึกข้อมูลทางบัญชีถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และสามารถปิดบัญชีประจำปีได้อย่างรวดเร็ว ผู้บริหารสหกรณ์สามารถนำข้อมูลสารสนเทศทางการเงิน มาใช้ในการวางแผนและการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สหกรณ์และสมาชิก รวมทั้งได้ผลักดันให้สหกรณ์ในพื้นที่ต่อยอดการใช้ข้อมูลจากโปรแกรมระบบบัญชีด้วยการนำ Application Smart4M มาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อให้สมาชิก คณะกรรมการ ผู้สอบบัญชี และผู้กำกับดูแลสหกรณ์ สามารถใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบข้อมูล ติดตาม ความเคลื่อนไหว และความผิดปกติของรายการทางการเงิน เพื่อหาแนวทางป้องกัน ก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ และสมาชิกสามารถตรวจสอบฐานะทางการเงินของตนเองได้ตลอดเวลา
๒. การพัฒนาสมรรถนะบุคลากร ให้มีความเป็นมืออาชีพและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นทั้งด้านความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ ด้านสมรรถนะไอที ด้านความรู้เฉพาะเกี่ยวกับธุรกิจที่ตรวจสอบ และที่สำคัญคือ การพัฒนาความสามารถด้านการสื่อสาร เพื่อพัฒนาทักษะให้ผู้สอบบัญชีสามารถเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินการบัญชีให้แก่สหกรณ์และผลักดันให้สหกรณ์มีการบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ โดยกรมฯ ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพของผู้สอบบัญชีสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการจัดอบรมเพิ่มพูนความรู้ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานทั้งในเชิงวิชาการและทางเทคนิค อาทิ การปฏิบัติงานตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชีและระเบียบกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การให้ข้อเสนอแนะในการวางระบบการควบคุมภายใน เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น และสามารถวางแนวทางการทำงานเพื่อแก้ปัญหาภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตอบสนองกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ที่หลากหลายและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ มีความเข้าใจและก้าวทันความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีด้านสอบบัญชี มีการปรับตัวและปรับวิธีการทำงานให้มีความพร้อมรับมือในทุก ๆ ด้าน และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีมาตรฐาน รวมไปถึงส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องให้ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ทำการตรวจสอบการดำเนินงานทั้งปวงของสหกรณ์ ทั้งด้านการปฏิบัติเกี่ยวกับการเงินการบัญชีและการดำเนินธุรกิจตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ รวมถึงการประเมินผลการควบคุมภายใน การรักษา ความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ และการตรวจสอบในเรื่องต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกได้ว่า การบริหารงานของคณะกรรมการดำเนินการ มีความโปร่งใสเชื่อถือได้
“นอกจากการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว สิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความโปร่งใสในระบบสหกรณ๋ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในขบวนการสหกรณ์ ทั้งคณะกรรมการสหกรณ์ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ตรวจสอบกิจการ รวมไปถึงสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งจะต้องร่วมกันดูแลรักษาผลประโยชน์ของตนเองและสหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์และ
กลุ่มเกษตรกร จึงจะสามารถป้องกันการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้นได้” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว