วันที่ 8 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง พร้อมด้วยนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ณ อำเภอชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อความเป็นสิริมงคล สืบทอดประเพณีอันดีงามและสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยมีการประกอบพิธีสำคัญ 3 พิธีได้แก่ พิธีพราหมณ์ (บูชาฤกษ์) พิธีสงฆ์ และพิธีวางศิลาฤกษ์
ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามตำราฝนหลวงพระราชทาน จัดสร้างขึ้นบนที่ราชพัสดุ เนื้อที่ 50 ไร่ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565-2568 ประกอบด้วยอาคารพิพิธภัณฑ์พระบิดาแห่งฝนหลวง ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศฯ และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตอนบน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกฝนด้านการปฏิบัติการฝนหลวงแบบครบวงจร สำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการปฏิบัติการฝนหลวงของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และสนองพระราชดำริในการถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวงให้กับประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งและภัยพิบัติ ตลอดจนเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งฝนหลวง” ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ให้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดในการช่วยเหลือราษฎรให้พ้นจากวิกฤติภัยแล้ง และสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชนด้วยการเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่การเกษตร ป่าไม้ และเขื่อนเก็บกักน้ำ แก้ไขภาวะภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่
พิพิธภัณฑ์พระบิดาแห่งฝนหลวงแห่งนี้เป็นอาคารสูง 3 ชั้น พร้อมชั้นลอยโดมแก้ว มีจุดชมวิว 360 องศา จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านฝนหลวงของบุคลากรทั้งภาครัฐ เอกชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ภายในประกอบด้วยรูปแบบการจัดแสดงความรู้ด้านเทคโนโลยีฝนหลวงเต็มรูปแบบ มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเหมาะสมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านฝนหลวงที่ทันสมัย เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการฝนหลวงรวม 10 โซน เช่น ความเป็นมาเทคนิคการทำฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทาน องค์ประกอบการปฏิบัติการฝนหลวง ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งแสดงถึงพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วยใยและช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของพสกนิกรให้รอดพ้นจากความเดือดร้อนจากภัยแล้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติ พร้อมทั้งเป็นศูนย์ศึกษา ค้นคว้า เผยแพร่ ตลอดจนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
จากนั้น เวลาประมาณ 11.00 น. องคมนตรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เดินทางไปยังศูนย์ฝนหลวงหัวหิน สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประกอบพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อโครงการพระราชดำริฝนหลวง โดยศูนย์ฝนหลวงหัวหินเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์สำคัญเกี่ยวข้องกับโครงการพระราชดำริฝนหลวง 2 เหตุการณ์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นฐานปฏิบัติการหลักในการวิจัย การค้นคว้าทดลองเพื่อพัฒนาขั้นตอนกรรมวิธีและเทคนิคในการปฏิบัติการฝนหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ.2512 และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชกรณียกิจดังกล่าวด้วยพระองค์เอง ทั้งระหว่างที่ทรงแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หรือทรงบัญชาการ มาจากพระตำหนักจิตรดารโหฐานผ่านข่ายวิทยุตำรวจ โดยกรมการบินพาณิชย์ได้จัดอาคารท่าอากาศยานในขณะนั้นให้เป็นสถานที่ทรงงานและเรียกว่า “ศาลาที่ประทับ” ตั้งแต่นั้นมา และเป็นสถานที่ที่เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงตรวจเยี่ยมศูนย์ฝนหลวงหัวหิน และคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษเคลื่อนที่เร็วติดตามพระองค์ เพื่อทรงบรรยายและสาธิตการทำฝนหลวงให้แก่นักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวลในรายการศึกษาทัศน์ ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2544 อีกด้วย โดยปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ “ตำราฝนหลวงพระราชทาน” มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ในการที่จะช่วยเหลือราษฎรที่ประสบกับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร “โดยให้คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องสำคัญ”