วันที่ 6 ส.ค. 65 ดร. ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปยังจังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อตรวจติดตามความเป็นอยู่และพัฒนาการของนายบุญชัย สุวรรณวลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเยาวชนเกษตรไทยในญี่ปุ่น รุ่นที่ 39 ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาแลกเปลี่ยนทางการเกษตรประเทศญี่ปุ่น (The Japan Agricultural Exchange Council : JAEC) ในการเดินทางไปฝึกงานเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 - เดือนตุลาคม 2565 กับครอบครัวนายโยชิโนริ ฮายะโต ซึ่งเป็นเกษตรกรชาวญี่ปุ่นที่ประกอบอาชีพการทำสวนผักและสวนส้ม ในจังหวัดคะนะกะวะ
ดร. ทองเปลว กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการดูแล สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือในมิติต่าง ๆ อาทิ การให้ความรู้ทางวิชาการเกษตร การเสริมสร้างศักยภาพ และการส่งเสริมการพัฒนาทักษะ เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีรายได้ที่มั่นคง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้เกษตรกรรุ่นใหม่หรือยุวเกษตรมีความรักและเห็นถึงคุณค่าของการประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม โดยการให้โอกาสที่ดีในการเรียนรู้และฝึกฝนการทำการเกษตรจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็น smart farmer ช่วยขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอัจฉริยะ ยุวเกษตรจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการยกระดับความมั่งคงทางอาหาร การปฏิรูประบบการเกษตรและอาหารให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันด้านการค้าสินค้าเกษตรในตลาดโลก ทั้งนี้ การเดินทางไปฝึกงานของยุวเกษตรไทยในประเทศญี่ปุ่นถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างมาก เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาภาคการเกษตรเป็นวาระแห่งชาติ มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินการวิจัยและพัฒนาการทำการเกษตรอย่างต่อเนื่อง
โครงการฝึกงานผู้นำเยาวชนเกษตรไทยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ JAEC ได้มีการดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลา 40 ปี ตั้งแต่ปี 2526 มียุวเกษตรผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการและไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นแล้ว 40 รุ่น จำนวน 663 คน ยุวเกษตรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับโอกาสในการเสริมสร้างองค์ความรู้และเทคนิคต่าง ๆ จากเกษตรกรญี่ปุ่นผู้มีความชำนาญในแต่ละด้าน ครอบคลุมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร สั่งสมประสบการณ์ในการทำการเกษตรเพื่อนำมาผสมผสานและปรับปรุงการทำการเกษตรในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวทางการปฏิบัติใหม่ ๆ ที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกรรายอื่น ๆ อย่างกว้างขวางในรูปแบบภาคีเครือข่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยเป็นอย่างมาก