1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
ตราสัญลักษณ์ 133 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“อลงกรณ์” นำภาคีเครือข่ายและเกษตรกรอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาด้านเกลือทะเล “ประเพณีแรกนาเกลือ” สร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลือ และรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการทำนาเกลือของประเทศ
10 พ.ย. 2565
475
0
เกลือทะเล
“อลงกรณ์”นำภาคีเครือข่ายและเกษตรกรอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาด้านเกลือทะเล
“อลงกรณ์” นำภาคีเครือข่ายและเกษตรกรอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาด้านเกลือทะเล “ประเพณีแรกนาเกลือ” สร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลือ และรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการทำนาเกลือของประเทศ

      นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย เป็นประธานเปิดงานอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาด้านเกลือทะเล “ประเพณีแรกนาเกลือ” โดยมี นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์         นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.จุฑามาศ ทะแกล้วพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันเกลือทะเลไทย นายเลอพงษ์ จั่นทอง ผู้แทนสหกรณ์กรุงเทพจำกัด นางสาวเกตุแก้ว สำเภาทอง ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรนาเกลือบางแก้ว จำกัด นายคธาวุธ บุญมา ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทยเพชรบุรี จำกัด หัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้มีเกียรติ เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรชาวนาเกลือ จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วม ณ วิสาหกิจชุมชนสหกรณ์ หมู่ 3 โคกขาม ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นการจัดงานประเพณีแรกนาเกลือครั้งแรกของไทย หลังจากที่ได้ห่างหายไปเป็นเวลานาน

          สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร จังหวัดสมุทรสาคร เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร และหน่วยงานภาคีเครือข่าย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลือ และรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการทำนาเกลือของประเทศ สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การผลิตเกลือทะเลของประเทศไทย กระตุ้นให้เกษตรกรพัฒนาการทำนาเกลือ และเริ่มต้นการผลิตใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ที่มีศักยภาพต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อสืบสานวิถีชีวิตด้านการเกษตร สร้างเครือข่ายด้านการเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างอาชีพทางการเกษตร สร้างรายได้ให้กับชุมชนและ และต่อยอดธุรกิจการเกษตร

            ทั้งนี้ “ประเพณีแรกนาเกลือ” คือ การประกอบพิธีกรรมการเริ่มทำนาเกลือในฤดูกาลใหม่ ที่จัดขึ้นก่อนเริ่มทำนาเกลือในแต่ละปี คือประมาณเดือนพฤศจิกายนหรือช่วงหลังออกพรรษา โดยถือฤกษ์ยามอันดีคือตรงกับวันพฤหัสบดีและวันธงชัย ในเวลาเช้าของวัน ตั้งแต่ 07.00 เป็นต้นไป ผู้ทำพิธีจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยชาวนาเกลือมีความเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นจากความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลในการทำนาเกลือ ทำให้การทำนาเกลือมีความราบรื่น ไม่มีอุปสรรค และได้ผลผลิตเกลือเป็นจำนวนมาก เพื่อให้การทำนาเกลือได้ผลผลิตตามที่ต้องการ และประสบผลสำเร็จในการทำนาเกลือ จึงมีพิธีเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยของมงคล อาทิ ขนมต้มแดงต้มขาว ขนมขี้หนู ไข่ต้ม หัวหมู เป็ดพะโล้ และผลไม้มงคล 9 อย่าง เป็นต้น

      การจัดงานจะเริ่มจากพิธีสงฆ์ โดยพระสงฆ์ จำนวน 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ รับประเคนภัตตาหารเช้า และให้พรเพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วจึงเริ่มประกอบพิธีแรกนาเกลือ โดยพราหมณ์หรือเจ้าพิธีทำพิธีบวงสรวงเชิญเทพยดา ถวายเครื่องสักการะเป็นเครื่องบูชาในการประกอบพิธีแรกนาเกลือ ประธานในพิธีและแขกผู้มีเกียรติจุดธูปเทียนสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์นำกระทงบรรจุขนมมงคลไปวางอยู่บริเวณหูนา นำพลั่วขุดดินขานานำน้ำแก่เข้านาเพื่อเริ่มการทำนาเกลือทะเล โดยประธานประพรมน้ำพระพุทธมนต์ พร้อมลั่นฆ้องเพื่อเป็นสัญญาณการเริ่มต้นการแรกนาเกลือ บริเวณนาเกลือเพื่อเป็นสิริมงคล เป็นอันเสร็จพิธี

      นอกจากนี้ ภายในงานนี้ยังมีการจัดนิทรรศการของหน่วยงานภาคีเพื่อเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเกลือทะเลเพื่อการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ในด้านต่าง ๆ เช่น ทิศทางในการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปี 2566 – 2570 จากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย กรมส่งเสริมการเกษตร การพัฒนาเกลือทะเลให้มีคุณภาพและมาตรฐาน (GAP เกลือทะเล) จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ การแสดงเทคโนโลยีการพัฒนาต้นแบบรถลำเลียงเกลือแบบตัวตักด้านหน้ากึ่งอัตโนมัติ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และการเชื่อมโยงการทำนาเกลือกับกิจกรรมอื่น ๆ เช่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร การสร้างรายได้เสริมนอกฤดูกาลการทำนาเกลือ อาทิ การเลี้ยงสัตว์น้ำประมงชายฝั่ง การเพาะเลี้ยงและการแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่น และการแปรรูปเกลือทะเลเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเกลือทะเล เช่น อาหารทะเลแปรรูป แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และร้านอาหารและที่พักที่อยู่ในการท่องเที่ยวเส้นทางเกลือ ภายใต้แนวคิด “Salt Sand Seafood”

    “การจัดงานอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาด้านเกลือทะเล “ประเพณีแรกนาเกลือ” ครั้งนี้ ถือเป็นการจัดงานครั้งแรก เพื่อเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ที่มีการประกอบอาชีพทำนาเกลือทะเล ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสงคราม  ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี และปัตตานี ได้นำไปประยุกต์ในการจัดงานในปีต่อ ๆ ไป เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลือ รักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมการทำนาเกลือสืบต่อไป” นายอลงกรณ์ กล่าว

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง