1. เปลี่ยนการแสดงผล :
    2. C
    3. C
    4. C
    5. C
    6. ตัวช่วยการเข้าถึงเว็บไซต์
    7. แผนผังเว็บไซต์
    8. EN
    9. TH
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministry of Agriculture and Cooperatives
รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดงาน Year End สศก. ขึ้นเวทีปาฐกถา "เกษตรเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแกร่ง"
15 ธ.ค. 2565
1,341
0
รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดงาน Year End สศก. ขึ้นเวทีปาฐกถา "เกษตรเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแกร่ง" พร้อมโชว์ตัวเลข GDP เกษตร ปี 65 ขยายตัวร้อยละ 0.8 และเตรียมขยายตัวต่อเนื่องในปี 66
รัฐมนตรีเกษตรฯเปิดงานYearEndสศก.ขึ้นเวทีปาฐกถา
รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดงาน Year End สศก. ขึ้นเวทีปาฐกถา "เกษตรเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแกร่ง"

        ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานและปาฐกถาพิเศษ “เกษตรเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแกร่ง” ในการสัมมนา เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2565 และแนวโน้มปี 2566 “Go Together Better Thailand : เกษตรเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแกร่ง” และมอบโล่ให้แก่เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ดีเด่น โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพมหานคร ว่า ภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แม้ว่า GDP ภาคเกษตรจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 8.5 ของ GDP ทั้งประเทศ แต่ภาคเกษตรยังคงมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น โดยมีเนื้อที่ทางการเกษตร 149.25 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.5 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีสัดส่วนแรงงานภาคเกษตรประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ และที่สำคัญ ภาคเกษตรเป็นแหล่งวัตถุดิบหรือต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงประชากรในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.39 ล้านล้านบาทต่อปี และมีดุลการค้าเกินดุลเฉลี่ย 8.6 แสนล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ภาคเกษตรยังเป็นทางรอดที่ช่วยรองรับและโอบอุ้มเศรษฐกิจไทยในวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เป็นแหล่งรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากภาคเศรษฐกิจอื่น ช่วยบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วงที่ประเทศประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

        อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเกษตร 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ตลาดนำการผลิต (2) เทคโนโลยีเกษตร 4.0 (3) เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน (Safety-Security-Sustainability) หรือ 3’s (4) การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน และ (5) เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชาให้เกษตรกรสามารถก้าวทันและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของเกษตรกร เพื่อรองรับวิกฤตในอนาคตอย่างรอบด้าน ทั้งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมด้านการเกษตรมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและทดแทนแรงงานภาคเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง การพัฒนาฐานข้อมูล Big Data เพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าใช้ประโยชน์ข้อมูลในการวางแผนการผลิตและการตลาด เช่น Mobile Application (One App) การสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้เข้าถึงที่ดินทำกินและแหล่งเงินทุน การประกันภัยพืชผล ส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะและเกษตรแม่นยำสูง การยกระดับสู่เกษตรมูลค่าสูง เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพทางรายได้และความมั่นคงในอาชีพแก่เกษตรกร รวมทั้งการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร

        “การขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างมั่นคง รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับวิกฤตต่าง ๆ ในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งสำคัญคือความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง แน่นอนว่าประเทศไทยจะแข็งแกร่งไม่ได้ ถ้าภาคเกษตรไม่เข้มแข็ง เพราะภาคเกษตรคือรากฐานวิถีชีวิตของสังคมไทยและเกษตรกร เป็นอาชีพที่มีผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร มีผลต่อระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ ดังนั้นการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน จะช่วยสร้างรากฐานภาคเกษตรไทยให้เข้มแข็ง เพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งไปด้วยกัน นอกจากนี้ ต้องสนับสนุนให้เกษตรกรมีเครื่องมือที่ทันสมัย โดยสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัย เข้ามาพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงให้โอกาส ทั้งในแหล่งเงินทุนและการพัฒนาทักษะต่าง ๆ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก อีกทั้งต้องบริหารจัดการสินค้าเกษตรตามความต้อง Demand และ Supply ให้สมดุล ตามความต้องการของตลาด เพื่อมุ่งสู่เกษตร 5.0 ต่อไปในอนาคต” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

        ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2565 มีขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยสาขาพืช สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัว ขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาประมงหดตัว ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุน ทั้งในเรื่องของปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ รวมถึงสภาพอากาศ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดในช่วงปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตและมีการบำรุงดูแลรักษามากขึ้น การดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนในด้านต่าง ๆ การขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ขยายตัวได้มากขึ้น

        ส่วนปัจจัยลบ ในเรื่องของปรากฏการณ์ลานีญาที่มีกำลังแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงอิทธิพลของลมมรสุมและพายุที่เข้ามาหลายระลอกในช่วงไตรมาส 3 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือ ซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรและผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหาย ประกอบกับราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคสัตว์ ทำให้มีการชะลอการเลี้ยง ควบคุมปริมาณการผลิต และปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ มาตรการ Zero-COVID ของจีน และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย

        สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2566 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีเพียงพอสำหรับการทำเกษตร การดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐด้านการเกษตรในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2566 ยังมีปัจจัยเสี่ยงและสถานการณ์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวนมากขึ้น ราคาปัจจัยการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ย สารเคมีกำจัดโรคและแมลง และวัตถุดิบอาหารสัตว์ การระบาดของโรคพืชและสัตว์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจกลับมาระบาดเป็นวงกว้างอีกครั้ง ซึ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก

Loading...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง