23 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนาของสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) หรือ พกฉ. ในโอกาสครบรอบ 16 ปี ของการจัดตั้งสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 กับภารกิจสำคัญในการเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ด้านการเกษตรเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภาคการเกษตร ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลา 16 ปี พกฉ. ยังคงมุ่งมั่นในการเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพพระมหากษัตริย์ไทย และพระบรมวงศานุวงศ์ด้านการเกษตร เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันดับต้นๆของประเทศที่ได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในการเข้ามาเยี่ยมชม และเก็บเกี่ยวความรู้ด้านการเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง จากการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 ที่ผ่านมามีประชาชนเข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์มากกว่า 500,000 คน ทั้งที่มาเป็นหมู่คณะ และครอบครัว โดยเข้ามาเรียนรู้ในงานมหกรรม นิทรรศการหมุนเวียน ตลาดเศรษฐกิจพอเพียง โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมท่องเที่ยวสุขสันต์ ที่พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ปทุมธานี”
นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนขยายผลการดำเนินงานภารกิจการเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพกษัตริย์เกษตร เผยแพร่องค์ความรู้และขยายผลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง สู่สังคมทั่วประเทศ ประกอบด้วย โครงการสร้างความร่วมมือเชิงเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและส่งมอบฐานการเรียนรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง โดยส่งมอบรวมแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 69 จ.พระนครศรีอยุธยา โรงเรียนแปลงไผ่-ขุนคลัง จ.ฉะเชิงเทรา โรงเรียนวัดหุบรัก(ไพรประชาอุปถัมภ์) จ.นครปฐม โดยในปี 2568 นี้ ตั้งเป้าหมายส่งมอบฐานการเรียนรู้ฯ เพิ่มเติมอีก 1 แห่ง ณ วัดเทพสรธรรมาราม จ.ปทุมธานี เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ รวมถึงสร้างการสร้างการมีส่วนร่วม เรียนรู้การพึ่งพาตนเองให้กับชุมชน และเครือข่ายสถาบันการศึกษาในบริเวณโดยรอบ เพื่อพัฒนาและยกระดับการขยายผลหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการเกษตรไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
ขยายผลความสำเร็จตลาดเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชน จากความสำเร็จของการจัดงานตลาดเศรษฐกิจพอเพียง ตลาดแห่งองค์ความรู้ มิตรภาพ และการแบ่งปัน ที่จัดอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี พื้นที่จุดประกายความคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วม และขับเคลื่อนงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ การถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์การทำเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงสู่ระดับชุมชน เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่ยั่งยืนหมุนเวียนในชุมชนที่ขับเคลื่อนงานร่วมกับศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ฯ ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายฯ ทั้ง 95 แห่ง ทั่วประเทศ เกิดเป็นตลาดเศรษฐกิจพอเพียง 6 แห่ง ซึ่งเป็นกำลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ตลาดซาวไฮ่ จ.อุทัยธานี กาดขี้เมี่ยงจ.แพร่ ตลาดปันรักษ์ขุนเลย จ.เลย ตลาดในสวน@อเร็งญา จ.ขอนแก่น ตลาดชุมชนดอนปู่ตาบ้านบัว” จ.สกลนคร และตลาดเศรษฐกิจพอเพียงวัดดอยท่าเสา จ.อุตรดิตถ์ ทั้งหมดนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของพี่น้องเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ที่เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่พร้อมส่งต่อองค์ความรู้และเป็นต้นแบบความพอเพียงให้กับคนในชุมชน และคนรุ่นใหม่ ได้เห็นถึงโอกาสในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืน
พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย เพิ่มเติมว่า “ในปีที่ 16 ของพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ เราตั้งใจที่จะเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่สร้างชีวิต ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเป้าหมายในการเผยแพร่พระเกียรติคุณ และพระอัจฉริยภาพกษัตริย์เกษตร เศรษฐกิจพอเพียง ที่นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ เกิดอาชีพ เกิดรายได้ พัฒนาไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”