นางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการโคเด็กซ์ สาขาสารปนเปื้อน (Codex Committee Contaminants in Food : CCCF) โดยมี ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพมหานคร ผ่านระบบออนไลน์จาก 26 ประเทศทั่วโลก
สำหรับคณะกรรมการโคเด็กซ์ สาขาสารปนเปื้อนในอาหาร มีบทบาทเชิงยุทธศาสตร์อย่างมากต่อมาตรฐานความปลอดภัยอาหารของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการกำหนดค่าปริมาณสารปนเปื้อนสูงสุด (Maximum Levels หรือ MLs) ในอาหารซึ่งครอบคลุมทั้งโลหะหนัก สารพิษจากเชื้อรา และสารปนเปื้อนจากกระบวนการผลิตต่าง ๆ โดยมาตรฐานเหล่านี้เป็นแนวทางสำคัญที่ประเทศไทยได้นำมาใช้ในการกำหนดนโยบายควบคุมความปลอดภัยอาหาร รวมถึงใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดทำกฎหมายและมาตรการควบคุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงการอ้างอิงมาตรฐานของ CCCF ยังมีความสำคัญในมิติของการค้า เนื่องจากสามารถใช้เป็นหลักอ้างอิงภายใต้ข้อตกลง SPS ขององค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในปริมาณสูง โดยในฝั่งการนำเข้า ประเทศไทยมีสินค้าหลายรายการที่มีความสำคัญ เช่น เมล็ดถั่วลิสง เครื่องเทศ และธัญพืช ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารพิษตามธรรมชาติ อาทิ อะฟลาทอกซิน และสารตะกั่ว หากไม่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคภายในประเทศ มาตรฐานที่กำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการโคเด็กซ์ สาขาสารปนเปื้อน เช่น ค่าปริมาณสารปนเปื้อนสูงสุด (Maximum Levels: MLs) และแนวทางการสุ่มตรวจสินค้า จึงมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างระบบการควบคุมอาหารภายในประเทศ และเป็นเครื่องมือสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเกษตรให้ปลอดภัย สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก โดยในปี 2567 มีมูลค่าการส่งออกสูงกว่า 1.8 ล้านล้านบาท สินค้าส่งออกหลักที่มีความอ่อนไหวต่อประเด็นสารปนเปื้อน ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด เครื่องเทศ และสมุนไพร ซึ่งหลายรายการอยู่ในวาระการพิจารณาของการประชุม CCCF ครั้งนี้ วาระการพิจารณาในการประชุมดังกล่าว จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า และช่วยลดความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธการนำเข้าสินค้าไทย โดยเฉพาะในตลาดสำคัญ
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดค่ามาตรฐานสารปนเปื้อนในสินค้าเกษตรและอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมุ่งมั่นทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและติดตามการดำเนินงานของ CCCF ทั้งในด้านการจัดทำข้อคิดเห็นเชิงวิชาการ การส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม และการสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสารปนเปื้อน เพื่อให้มั่นใจว่าผลประโยชน์ของประเทศไทยจะได้รับการสะท้อนในเวทีสากลอย่างเหมาะสม
“สำหรับการเป็นเจ้าภาพร่วมในการประชุม CCCF ครั้งที่ 18 ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงบทบาทที่แข็งแกร่งของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยอาหารเท่านั้น แต่ยังตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของภาครัฐในการยกระดับมาตรฐานอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภค สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดโลกว่าประเทศไทยคือแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพและได้มาตรฐาน” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ด้าน ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานที่ประสานงานด้านมาตรฐาน Codex ของประเทศ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการนำมาตรฐานสากลไปใช้จริงภายในประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการยกระดับสู่มาตรฐานโลก เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบอาหารระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ข้อคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อจัดทำท่าทีของประเทศในการประชุม CCCF พร้อมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนามาตรฐาน และวิธีการควบคุมสารปนเปื้อนในอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีการนำมาตรฐานของ Codex มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ เพื่อพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหารอย่างครบวงจร ตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงการแปรรูปในระดับอุตสาหกรรม