หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี
20 ก.ค. 2560
3,278
669
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย ปี 2554
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี

หม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี ทรงมีผลโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ และมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย โดยเป็นบุคคลที่ส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งส่งผลให้ลดการทำลายธรรมชาติลง และเป็นการรักษาผืนดิน ด้วยการส่งเสริมการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม และเกิดประโยชน์ การผลิตพืชเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจจึงได้เกิดขึ้น นอกจากนี้ ทรงเป็นบุคคลที่มีความเสียสละในการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านการเกษตรต่าง ๆ และสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม และผลงานต่างๆ ยังสร้างประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมด้วย

ประวัติหม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี  (ประธานมูลนิธิโครงการหลวง)

ที่อยู่ : มูลนิธิโครงการหลวง ๖๕ ถนนสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๒๐๐ 

     หม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี  ทรงเป็นพระราชโอรสในพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ และทรงเป็นผู้ใกล้ชิดและทรงงานสนององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านต่างๆ มาอย่างยาวนาน ที่สำคัญคือด้านการเกษตร ทรงเริ่มต้นจากการเป็นข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปฏิบัติงานในโครงการฟาร์มส่วนพระองค์หาดทรายใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และยังทรงเป็นผู้บุกเบิกโครงการหลวงในพระราชดำริบนดอยสูงมาแต่ครั้งเริ่มแรกจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี  

     ในปัจจุบันโครงการหลวงได้มีสถานะเป็นมูลนิธิโครงการหลวง โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็น          องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงมาตั้งแต่ปี 2535 เมื่อครั้งอดีตการเดินทางไปยังพื้นที่สูงมีความลำบาก การคมนาคม ถนนหนทาง การติดต่อสื่อสารและสิ่งจำเป็นสำหรับการยังชีพ ในปี พ.ศ. 2512 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี และคณะทำงานได้ตัดสินใจเลือกบริเวณดอยอ่างขางเป็นสถานีวิจัยแห่งแรก และได้รับพระราชทานชื่อในเวลาต่อมาว่า สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และได้ทรงส่งเสริมให้ขยายพื้นที่ไปอีกหลายศูนย์ อาทิ โครงการหลวงดอยอินทนนท์ โครงการหลวงขุนวาง เป็นต้น  ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวง มีสถานีวิจัย ๔ แห่ง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงกระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่  เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา และลำพูน จำนวน ๓๘ ศูนย์  ทำงานวิจัยพันธุ์พืชและสัตว์ที่เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่  เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปปลูก ซึ่งปัจจุบันมีพืชผัก ผลไม้ ดอกไม้ที่ส่งเสริมรวมกันมากกว่า ๓๕๐ ชนิด  มีเกษตรกรที่เป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ ๑๓ เผ่า รวมทั้งคนเมือง อยู่ในโครงการรวมกัน ๓๐,๕๓๗ ครอบครัว จำนวนกว่า ๑๕๑,๒๗๗ คน  ครอบคลุมพื้นที่ ๑๔๙,๒๕๗.๑๒ ไร่

     มูลนิธิโครงการหลวงมีระบบการตลาดอย่างครบวงจร ดูแลตั้งแต่ระบบการเพาะปลูก การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่ทันสมัย  จนถึงการกระจายออกสู่ตลาด  สามารถทำรายได้กลับคืนสู่เกษตรกรได้ปีละกว่า ๔๕๐ ล้านบาท  ทำให้ปัจจุบันรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยของเกษตรกรในโครงการหลวงสูงถึง ๗๐,๐๐๐ บาท ต่อปี มากกว่ารายได้จากฝิ่นหลายสิบเท่า

การทำงานของโครงการหลวง

1. การวิจัย (ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงวันนี้ได้มีการวิจัยเรื่องต่างๆ เพื่อคัดเลือกหาพันธุ์พืช พันธ์สัตว์)
     ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ วิธีการเพาะปลูกและการจัดการ ทำให้มีงานวิจัยใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจำนวนนับร้อยโครงการ  โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งให้เริ่มต้นที่พืชเป็นอันดับแรก  เพราะเป็นพืชพื้นเมืองที่มีอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป โดยหาต้นพืชพันธุ์ดีจากต่างประเทศ มาต่อกับพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม  จากนั้นมาพืชผักเมืองหนาวและกึ่งหนาวหลายร้อยชนิด ที่ผ่านการวิจัย ค้นคว้าและทดลองอย่างต่อเนื่องและยาวนานจนสามารถปรับปรุงพันธุ์ ทั้งพืชและสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในประเทศไทยได้มากขึ้น  สามารถคัดเลือกและผลิตสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้มากมาย ซึ่งปัจจุบันงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงเป็นต้นแบบของงานวิจัยการเกษตรที่สูง  ด้วยการสร้างสมประสบการณ์ทางวิชาการและเทคโนโลยีการปลูกพืชผักและไม้ผลเมืองหนาวอย่างมากมาย  เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานของเกษตรกรและผู้สนใจในระดับภูมิภาคอย่างกว้างขวาง และงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงยังขยายเข้าไปในเรื่องของเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการผลิตพืช งานวิจัยแมลงศัตรูพืช  เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี  รวมถึงงานวิจัยในเรื่องดินและธาตุอาหารพืช  เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวการแปรรูปผลิตภัณฑ์  

2. การส่งเสริมและพัฒนา
     จากผลสำเร็จของงานวิจัย นำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยี และส่งเสริมให้เกษตรกรนำพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมไปปลูก ไปเลี้ยง และสอนเรื่องการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว  จนเกิดกระบวนการเรียนรู้ใน        การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ สำหรับบริโภคเองในครัวเรือน และจำหน่ายออกสู่ตลาด ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแต่ละแห่ง จะจัดทำเป็นแปลงทดสอบและสาธิตโดยการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อให้เป็นที่เรียนรู้ของเกษตรกร จากการร่วมปฏิบัติงานจริง ขณะเดียวกันแปลงทดลองและสาธิตเหล่านี้ก็จะเป็นแปลงแม่พันธุ์ สำหรับผลิตพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ให้เกษตรกรพร้อมกันไปด้วย

     การส่งเสริมการพัฒนาอาชีพให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเมืองหนาว ปัจจุบันเกษตรกรสามารถส่งผลผลิตออกจำหน่ายผ่านมูลนิธิโครงการหลวง และเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตเอง รวมเป็นมูลค่าสูง ถึงปีละกว่า 450 ล้านบาท  ทำให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และในปัจจุบัน มูลนิธิโครงการหลวง ส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี โดยการปลูกพืชตามระบบเพาะปลูกที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP)  คือการเพาะปลูกที่ให้ผลผลิตปลอดภัยจากสารเคมีไม่เกิดผลกระทบ  พื้นที่ปลูกและแหล่งน้ำสะอาดปราศจากการปนเปื้อน รวมทั้งส่งเสริมและขยายเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญยังมีระบบติดตามและตรวจสอบการปลูกพืชตามมาตรฐานการเพาะปลูกที่ดี  โดยส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูแล ให้คำแนะนำเรื่องการเพาะปลูกร่วมกับชาวบ้านเป็นรายแปลงอย่างต่อเนื่อง  เพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน  การรับรองอาหารปลอดภัย และใบรับรองแหล่งผลิตพืช

3. การส่งเสริมและพัฒนาด้านอื่นๆ 
     สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการช่วยเหลือพวกเขา เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต  ฉะนั้น โครงการหลวงจึงเห็นความสำคัญของงานส่งเสริมและพัฒนาทางด้านสังคมเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน  องค์กรท้องถิ่น  และหน่วยงานราชการในพื้นที่อย่างใกล้ชิด งานส่งเสริมและพัฒนายังลงลึกไปสู่กระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนโดยร่วมกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรอื่นๆ ในการพัฒนาสุขอนามัยให้กับชุมชนชาวเขา พัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนเพื่อต้านยาเสพติด  ส่งเสริมและพัฒนาด้านการศึกษา  พัฒนาโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส เพื่อให้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับการศึกษาขั้นสูงนอกจากนี้ โครงการหลวงยังจัดตั้งองค์กรชุมชนเพื่อการพึ่งพาตนเอง  เพื่อเสริมสร้างกระบวนการชุมชน  จัดทำแผนบูรณาการชุมชน  ฝึกอบรมทักษะการวางแผนพึ่งพาตนเองให้กับผู้นำชุมชนในพื้นที่โครงการหลวง  และสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนชาวไทยภูเขาเหล่านี้ มีความสงบสุข  รักษาและอนุรักษ์วัฒนธรรม  รวมถึงเอกลักษณะประจำเผ่าของตนเองไว้ได้เป็นอย่างดี

4. การฟื้นฟู อนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
     สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และจำเป็นต้องทำควบคู่กันไปก็คือการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร  ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการปลูกป่า  ในรูปแบบของป่า 3 อย่าง ให้ประโยชน์         4 อย่าง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ป่ากินได้ ป่าฟืน ป่าใช้สอยและสร้างบ้าน และประโยชน์อย่างที่สี่ คือ ได้ป่าอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย ขณะเดียวกันยังส่งเสริมชาวบ้านให้ปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน  เพื่อให้สามารถรองรับระบบการเพาะปลูกที่ดี  อบรมส่งเสริมให้พวกเขา ผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยพืชสดไว้ใช้เอง แทนการซื้อปุ๋ยจากภายนอก  รณรงค์ปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่โครงการหลวง เพื่อลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน โดยมีเป้าหมายในอนาคต เพื่อใช้พื้นที่เพาะปลูกให้น้อย แต่เพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น

     นอกจากนี้ มูลนิธิโครงการหลวงได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  กรมป่าไม้ และกรมพัฒนาที่ดิน วางแผนจัดการการใช้ที่ดินอย่างถูกต้องเหมาะสม  แบ่งเขตให้ชัดเจนระหว่างพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ทำเกษตรกรรม จนสามารถควบคุมพื้นที่สำหรับเกษตรกรรมไม่ให้ไปรุกล้ำป่าธรรมชาติได้อย่างเป็นผลสำเร็จพร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกในการหวงแหน ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดขึ้นในชุมชน

5. คุณภาพผลผลิต
     จากความสำเร็จด้านการพัฒนาของมูลนิธิโครงการหลวง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เลิกการปลูกฝิ่นเพราะว่าพวกเขาสามารถขายผลผลิตได้ราคาดีอย่างต่อเนื่อง และที่ขายได้ราคาดี ก็เพราะผลผลิตมีคุณภาพดีอย่างสม่ำเสมอ และเป็นเหตุผลสำคัญที่มูลนิธิโครงการหลวงให้ความสำคัญในเรื่องการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพผลผลิตมาโดยตลอดเพื่อให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ตลอดจนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยนำระบบการจัดการคุณภาพมาใช้

     ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงได้ปรับปรุงคุณภาพผลผลิตผักให้เข้าสู่มาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food Safety) โดยการพัฒนาระบบการเพาะปลูกที่ดี  ตรวจสอบการเพาะปลูก และควบคุมการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยเป็นรายแปลง  มีการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในพืชผัก ผลไม้ที่ส่งเข้ามาจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่างๆ ทุกวัน  จนได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพระบบการผลิตและแหล่งพืชผัก จากกรมวิชาการเกษตร สำหรับพืชผัก 70 ชนิด และผลไม้ 6 ชนิด และได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์มาตรฐานประเทศไทย จากกรมวิชาการเกษตร

6. สด  สะอาด และปลอดภัย
     ผลผลิตที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทั้ง 38 แห่ง รวบรวมจากเกษตรกรในพื้นที่จะส่งมายังศูนย์ผลิตผลโครงการหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารคัดบรรจุ และโรงงานอาหารแปรรูปเชียงใหม่ที่ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (Good Agricultural Practice : GAP) จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ  (มกอช.) ที่เน้นเรื่องการจัดการด้านสุขลักษณะของอาคารและสถานที่ผลิต รวมถึงเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต และยังได้รับการรับรองระบบวิเคราะห์จุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (Hazards Analysis and Critical Control Points System : HACCP)  ตามมาตรฐาน CODEX จาก แคมป์เดนและเชอร์รีวูด ประเทศอังกฤษ ที่กำหนดหลักการทั่วไปเกี่ยวกับสุขลักษณะของอาหารที่ควรปฏิบัติ (Recommended International Code of Practice:General Principle Of Food Hygiene) ที่มุ่งเน้นการควบคุมกระบวนการผลิต โดยเฉพาะขั้นตอนที่เป็นจุดวิกฤต

     ปัจจุบันศูนย์ผลิตผลโครงการหลวง ดำเนินงานตามมาตรฐานทั้งสองระบบสอดคล้องกันเป็นอย่างดี เพื่อรักษามาตรฐานกระบวนการผลิตผักสด ในระบบที่ป้องกันการปนเปื้อนทั้งทางด้านเคมี ด้านชีวภาพ และด้านกายภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกซื้อสินค้าที่สด สะอาด และปลอดภัย

     นอกจากนี้  มูลนิธิโครงการหลวง ยังปรับปรุงอาคารคัดบรรจุในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงให้ได้มาตรฐานเพื่อทำให้พืชผักที่เกษตรกรส่งเข้ามายังศูนย์ฯ คงสภาพความสมดุลให้นานที่สุด ด้วยระบบเย็นเร็ว (Precooling) ทั้งระบบทำความเย็นด้วยน้ำ ระบบทำความเย็นด้วยลมเป่า ระบบห้องเย็น และระบบเย็นเร็วแบบสูญญากาศ ที่ใช้หลักการที่น้ำเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นก๊าซ ในสภาวะความดันต่ำ ระบบทำความเย็นด้วยสูญญากาศ ผักจะมีความเย็นเท่ากันทั่วจนถึงแกนกลางของผัก เนื่องจากเกิดความเย็นเกิดขึ้นภายในน้ำซึ่งอยู่ภายในเซลล์ของผัก ช่วยรักษาความสดของพืชผักได้นานมากกว่า 30 วัน

7. การตลาด
     ระบบการตลาดของโครงการหลวงเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 เพื่อนำผักกาดหอมห่อ และผลผลิตพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ของเกษตรกรออกไปจำหน่าย จากจุดเริ่มต้นที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก จากพืชผัก ผลไม้ไม่กี่ชนิด เริ่มมีผลผลิตมากขึ้น จนปัจจุบันมีมากกว่า 30 ชนิด และกลายเป็นสินค้าพืชผักเมืองหนาว ที่นิยมและต้องการของตลาด จนกระทั่งในปัจจุบัน การดำเนินงานด้านการตลาดของมูลนิธิโครงการหลวงเป็นระบบที่ครบวงจรโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของผลผลิตที่จำหน่ายให้กับผู้บริโภคเป็นสำคัญ  เริ่มจากระบบการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับผลผลิตที่มีปริมาณมากและหลากหลายชนิด การคัดบรรจุที่มีระบบตรวจสอบคุณภาพ และปริมาณของผลผลิต เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของมูลนิธิโครงการหลวง  จากนั้นจึงบรรจุหีบห่อในรูปแบบต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้า และกระจายไปสู่ลูกค้าทั่วประเทศผ่านช่องทางจำหน่ายต่างๆ โดยมูลนิธิโครงการหลวงจะมีร้านค้าที่จำหน่ายผลิตผลของตนเองในชื่อ "โครงการหลวง” แล้ว  ยังมีช่องทางจำหน่าย กระจายไปตามไฮเปอร์มาร์เก็ตและซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ  รวมทั้งร้านค้าในตลาดทั่วไป และยังมีช่องทางจำหน่ายที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้แก่ กลุ่มโรงแรม  ร้านอาหาร และผู้รับจัดอาหาร  เป็นต้น

ตกลง