นายจันทร์ที ประทุมภา
16 พ.ย. 2560
26,240
2,635
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2554
นายจันทร์ที ประทุมภา
นายจันทร์ที ประทุมภา

นายจันทร์ที ประทุมภา

เป็นเกษตรกรที่ดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นระยะเวลา 52 ปี และสามารถเป็นแบบอย่างให้กับผู้อื่นได้ จากที่เคยประสบภาวะวิกฤตชีวิต มีหนี้สินจำนวนมาก ต้องขายทรัพย์สินที่มี และนำที่ดินไปจำนอง กระทั่งต้องไปทำงานรับจ้างที่ประเทศมาเลเซีย แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ทำงานหนัก และอดออม ภายในระยะเวลา 1 ปี จึงเหลือเงินกลับมาจนสามารถใช้หนี้ และไถ่ถอนที่ดินคืนมาได้ แล้วจึงเริ่มต้นวิถีเกษตรผสมผสานตั้งแต่ปี 2534 ด้วยทุนที่มีเหลืออยู่กับตัว คือ สองมือและอุปกรณ์ข้างกาย ได้แก่ จอบและบุ้งกี๋ ขุดสระน้ำด้วยแรงงานที่มีในครัวเรือน จำนวน 4 คน ใช้เวลา 3 เดือน จึงเริ่มเก็บกักน้ำได้ ดำรงตนอย่างสมถะสร้างอาหารไว้กินเองในครอบครัว และใช้แรงงานภายในครอบครัว 6 คน ไม่มีการจ้างแรงงานภายนอก 

การศึกษา

มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาาวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา

อาชีพ  

เกษตรกรรม 

ที่อยู่  

บ้านเลขที่  138 บ้านโนนรัง ม.6 ต.ตลาดไทร อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา 

ผลงานดีเด่น

1. เป็นบุคคลที่นำความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้กับตนเองจนประสบความสำเร็จแล้ว และยังสามารถถ่ายทอดความรู้ และขยายผลให้แก่ชาวบ้านจนประสบความสำเร็จด้วย 
2. แปลงเกษตรแบบประณีตในพื้นที่ 1 ไร่

ประวัติ

     นายจันทร์ที ประทุมภา ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการแบ่งพื้นที่การใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ จำนวน 22 ไร่ มีการบริหารจัดการ โดยแบ่งเป็นพื้นที่นาข้าว 10 ไร่ พื้นที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ 10 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และมีสระน้ำรวมกว่า 10 สระ พร้อมกับการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย พืชผัก พืชสมุนไพร เพื่อให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันเหมือนต้นไม้ในป่าธรรมชาติเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน อันเป็นระบบนิเวศน์ที่สมดุล มีการเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ปลา และปลูกผักทุกชนิดที่ตนเองเคยซื้อกิน เพื่อลดรายจ่าย ขณะเดียวกันสามารถนำผักที่ปลูกไปจำหน่ายในตลาดได้ ทำให้มีรายได้ทุกวันจากการขายผัก ส่วนรายได้หลักต่อเดือนได้จากการขายปลาและสัตว์ที่เลี้ยง สำหรับรายปีก็มีรายได้อีกจากการขายผลผลิตของไม้ยืนต้นประเภทให้ผล ขณะเดียวกันก็จะแปรรูปผลผลิตในครัวเรือน อาทิ จากกล้วย น้ำเสาวรส น้ำมะพร้าว พันธุ์พืชทุกชนิดที่ปลูกจะขยายพันธุ์ด้วยตนเองโดยไม่ซื้อมาจากแหล่งอื่น

     นายจันทร์ที ได้เริ่มดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่โดยการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่ปี 2540 - 2541 โดยทราบจากสำนักงาน กปร. และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จึงได้ศึกษาว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างไร ก็ได้รับทราบว่า ต้องพยายามลดรายจ่ายในครอบครัวให้มากที่สุด เมื่อศึกษาแล้วจึงทราบว่าจริงๆ แล้วค่าใช้จ่ายประจำวัน คือ อาหารที่ต้องกินต้องใช้ แล้วมาคิดต่ออีกว่าอาหารที่ต้องซื้อเขากินมีอะไรบ้าง จึงมาเริ่มคุยกันในครอบครัวว่าเราต้องปลูกทุกสิ่งทุกอย่างที่เราซื้อกินทุกวัน ดังนั้นทุกอย่างที่เคยซื้อจะต้องปลูกเองทั้งหมด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากที่วันหนึ่งเคยซื้อ 20 - 30 บาท ก็ไม่ต้องซื้อ และยังมีเงินไว้เก็บออมอีกด้วย

     พื้นที่ทั้งหมดของนายจันทร์ที จะปลูกตั้งแต่พืชผักสวนครัว ทุกสิ่งทุกอย่างที่กินและขายได้ นอกจากพืชผักสวนครัวแล้ว ยังมีไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจ ซึ่งที่ปลูกแล้วได้ผลดี และมีพืชที่เป็นที่สนใจของคนทั่วไป คือ ผักหวานป่า เพราะราคาดี และมีคนสนใจมาก ราคากิโลกรัมละ 200 บาท รวมไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจทั้งหมดก็ทำให้มีรายได้ประมาณหมื่นกว่าบาทต่อเดือน หลายๆ คนบอกว่าปลูกป่าไม่ได้ เพราะไม่มีหัวไร่ปลายนา แต่ท่านก็ทำเป็นตัวอย่างโดยใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างที่สุด คือ ปรับคันคูให้ใหญ่แล้วปลูกพืชสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจ หลากหลาย ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมขึ้นมา สร้างป่าขึ้นมา เพื่อเป็นบำนาญชีวิตให้กับลูกกับหลาน เป็นการฝากเงินไว้กับต้นไม้ ฝากเงินไว้กับดิน ลองคิดดูว่าต้นไม้ต้นหนึ่งปีแรกลงทุนไม่ถึง 10 บาท เมื่อผ่านไป 30 ปี แปรรูปต้นเพิ่มมูลค่าเป็นเงินได้หมื่นกว่าบาท คุ้มค่ามาก

      หลังจากได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้แล้วประสบผลสำเร็จ ทำให้ที่บ้านจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดความรู้เรื่องทฤษฎีใหม่ของพระองค์ ซึ่งขณะนี้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้  ที่ใช้อบรมให้กับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้หนึ่งในจำนวน 151 ศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศ ผู้ที่เข้าอบรมคือเกษตรกรที่สนใจในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ มาอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนแนวความคิด เปลี่ยนจิตสำนึก ให้รู้จักพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองในชุมชนได้ ถ้าเกษตรกรอยากจะลดรายจ่ายในการทำเกษตร ก็ต้องให้ความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การขยายพันธุ์พืช เพาะเมล็ด ติดตา ทาบกิ่ง เสียบยอด การขยายเพาะพันธุ์ปลาเลี้ยงเอง และสอนวิธีทำหัวอาหารเลี้ยงปลา ซึ่งจะเป็นการประหยัดและลดรายจ่ายได้เป็นอย่างมาก วัตถุดิบที่ทำหัวอาหารปลาก็มาจากการเกษตรทั้งนั้น เช่น ถั่ว มัน ข้าวโพด ทุกอย่างที่เกษตรกรทำ และอีกส่วนหนึ่งคือสอนการทำปุ๋ยชีวภาพ และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเกษตร หรือเกี่ยวกับการลดรายจ่าย และจากการทำงานเพื่อสังคมที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์จริงที่ได้สั่งสมมานั้น ทำให้นายจันทร์ทีได้รับการยอมรับให้เป็นปราชญ์อีสานที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้สนใจทั่วไปและในปีหนึ่ง มีผู้เข้ามาเรียนรู้และชื่นชมผลงานของนายจันทร์ที ไม่ต่ำกว่า 2-3 พันคน จากความมุ่งมั่นและจริงใจในการให้ความรู้ เนื่องจากนายจันทร์ทีคิดว่า การที่รู้แล้วไม่ควรเก็บไว้เพียงผู้เดียว ควรถ่ายทอดสิ่งดี ๆ ให้กับชุมชน เพราะคิดว่าตนเองเคยตกทุกข์ได้ยากมา จึงรู้ว่าถ้าเราทำอย่างถูกต้องจะทำให้สำเร็จ ดังนั้นจึงต้องขยายความรู้ให้กับคนอื่นและชุมชนต่อไป

 

ตกลง