นายสวง คุ้มวิเชียร
19 มี.ค. 2568
241
12
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ปี 2568
นายสวง คุ้มวิเชียร
นายสวง คุ้มวิเชียร

สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น

นายสวง คุ้มวิเชียร

อายุ                        69 ปี

การศึกษา                  ประถมศึกษาปีที่ 4

สถานภาพ                 สมรส  

ที่อยู่                        บ้านเลขที่ 23/1 หมู่ที่ 3 ถนนศาลายา - บางภาษี

                             ตำบลนราภิรมย์ อำเภอบางเลน

                              จังหวัดนครปฐม 73130

โทรศัพท์                   08-1438-2633

อาชีพ                      เกษตรกร

คุณลักษณะส่วนบุคคล

          นายสวง คุ้มวิเชียร จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยครอบครัวประกอบอาชีพปลูกกล้วยไม้ ตัดดอกจำหน่าย ต่อมามีแนวคิดที่จะเพิ่มมูลค่าของกล้วยไม้ด้วยการจำหน่ายเป็นต้นพันธุ์ จึงเริ่มศึกษาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้จากศาสตราจารย์ระพี สาคริก และลงมือปฏิบัติ ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง จนสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและลดต้นทุนในการผลิต จากการสั่งสมประสบการณ์ในการทำการเกษตรมาอย่างยาวนาน ทำให้ นายสวง คุ้มวิเชียร เป็นเกษตรกรผู้เชี่ยวชาญและสร้างสรรค์ผลงานด้านการเกษตร มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้ โดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลหวาย และมีผลงานด้านนวัตกรรม ด้านการบริหารจัดการ ด้านการตลาด และด้านการเผยแพร่องค์ความรู้ ในการทำฟาร์มผลิตกล้วยไม้ที่ได้มาตรฐานสากล นายสวงเป็นผู้มีความเพียร วิริยะ อุตสาหะ ในการทดลองผสมพันธุ์กล้วยไม้พันธุ์ใหม่ ๆ รวมทั้งการเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สามารถผลิตต้นพันธุ์ได้ในปริมาณมากและใช้ระยะเวลาสั้น ทำการศึกษาหาความรู้ใหม่เพิ่มเติมเพื่อนำมาต่อยอดอาชีพ นายสวงเป็นผู้ดำเนินชีวิตและดำเนินอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นระยะเวลา 40 ปี ใช้หลักคิดแบบรอบคอบ ไม่ฟุ่มเฟือย มีการวางแผน  การผลิตและการจำหน่าย รับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกและผู้ร่วมงาน และปรับตัวให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

ผลงานสร้างคุณประโยชน์

          นายสวง คุ้มวิเชียร เป็นผู้คิดค้นและพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้สกุลหวาย จนได้รับพระราชทานนาม จำนวน 5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย กล้วยไม้สกุลหวาย “ม่วงราชกุมารี” “รักตสิริน” และ “คชนภา” ได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล้วยไม้สกุลหวาย “ชมพูนครินทร์” ได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และกล้วยไม้สกุลหวาย “โสมสวลี”  ได้รับพระราชทานชื่อจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ในวงการกล้วยไม้ไทยด้วยการเป็นบุคคลแรกที่ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์กล้วยไม้สกุลหวายสายพันธุ์สองสีในต้นเดียวกัน รวมถึงพัฒนาสายพันธุ์ต่าง ๆ มากกว่า 4,000 สายพันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยง สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและคนในชุมชน

           นายสวง ยังได้พัฒนาสารสกัดจากผงกล้วยไม้ (Orchid dendrobine extract) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมกล้วยไม้แปรรูป โดยนำมาใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยในการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ เพิ่มมูลค่าและศักยภาพของกล้วยไม้ไทย โดยคิดค้นและทดลองวิธีการใหม่ ๆ รองรับความต้องการของตลาด ดังนี้ 1) การประยุกต์ใช้กระถางดูดน้ำกับกล้วยไม้ เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลาสำหรับคนที่รักการปลูกกล้วยไม้แต่ไม่มีเวลารดน้ำ และยังทำให้ประหยัดปุ๋ยและน้ำถึง 20 เท่า เป็นการช่วยส่งเสริมการปลูกกล้วยไม้ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี 2) ทดลองและพัฒนาเทคนิคการดูดสีของกล้วยไม้   ที่ช่วยเพิ่มความสวยงามและคุณค่าของกล้วยไม้ ทำให้กล้วยไม้มีเอกลักษณ์และเป็นที่ต้องการของตลาด       3) ทดลองใช้สาร CPPU ที่ใช้ในทุเรียน ฉีดพ่นกล้วยไม้ในช่วงฤดูร้อน  เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพดอกกล้วยไม้ ทำให้ดอกมีขนาดใหญ่ขึ้นสีเข้มและกลีบหนา ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของดอก ลดความเสียหาย 4) พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับบรรจุต้นกล้ากล้วยไม้ ต้นกล้วยไม้และดอกกล้วยไม้ ในการส่งออกที่ได้มาตรฐาน ลดการสูญเสีย   ในกระบวนการขนส่ง ทำให้กล้วยไม้ไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก 5) ประยุกต์ทำผนังกั้นห้องเย็น      เพื่อรักษาความเย็นด้วยวัสดุแผ่นโพลีคาร์บอเนต โดยให้แสงเข้ารอบด้าน เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และทำให้กล้วยไม้โตเร็ว 6) คิดค้นเครื่องล้างขวดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ ที่สามารถประหยัดพลังงานและแรงงาน และ 7) พัฒนาโรงเรือนเพาะเลี้ยงที่สามารถควบคุมแสง โรค และแมลง จนเป็นต้นแบบให้กับแปลงกล้วยไม้อื่น ๆ

          นายสวง ได้เป็นแกนนำในการรวมตัวกันของเครือข่าย เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้ในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง ประกอบด้วย นครปฐม กรุงเทพฯ นนทบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และชลบุรี โดยพัฒนาความร่วมมือในเครือข่าย จนสามารถกลายเป็นเครือข่าย         ผู้ส่งออกกล้วยไม้รายใหญ่ของประเทศ มีการรวบรวมผลผลิตของเครือข่ายเพื่อการส่งออก สร้างมูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ในประเทศมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี ปัจจุบันมียอดสั่งซื้อต้นพันธุ์ที่เพาะจากเนื้อเยื่อปีละประมาณ 2,000,000 ต้น และมีปริมาณการส่งออกโดยรวมมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นรายได้ของเกษตรกรในเครือข่ายรวมกันมากกว่า 900 ล้านบาทต่อปี

          จากผลงานต่าง ๆ ที่ได้พัฒนาขึ้นทำให้นายสวงได้รับรางวัลสำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ รางวัลนักปรับปรุงพันธุ์พืชดีเด่น ปี 2558 ของสมาคมปรับปรุงพันธุ์พืชและขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และรางวัลเหรียญทองแดง ในการประกวดกล้วยไม้โลก (สกุลหวาย) ในงานการประชุมกล้วยไม้โลก (World Orchid Conference) ครั้งที่ 19 ปี 2551 ณ เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา

การขยายผลงาน

นายสวง คุ้มวิเชียร ได้ก่อตั้งแหล่งผลิตกล้วยไม้แบบครบวงจรภายใต้ชื่อ “แอร์ออร์คิดส์” โดยใช้เป็นสถานที่ศึกษาดูงาน บรรยายและให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้สายพันธุ์ต่าง ๆ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การพัฒนาสายพันธุ์ มีเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ คณะศึกษาดูงานจากหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และต่างประเทศ ประมาณ 100 คณะต่อปี รวมถึงมีนิสิตนักศึกษาเข้าฝึกงานประมาณปีละ 10 สถาบัน นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งจำหน่ายกล้วยไม้ขนาดใหญ่แห่งแรกของไทย โดยใช้แนวคิดในการบริหารงานแบบเน้นการจัดการทางการตลาดในเชิงรุก “เข้าถึงและเข้าใจ” ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง มีการจำหน่ายกล้วยไม้ ปัจจัยการผลิต วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกกล้วยไม้แบบครบวงจร และเป็นศูนย์กลางการผลิต การรวบรวมผลผลิต และการส่งออกกล้วยไม้สู่ตลาดต่างประเทศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เปิดโอกาสให้เข้าชมการเพาะพันธุ์ การจัดการฟาร์ม และเรียนรู้การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้แก่ผู้สนใจ

นายสวง ยังได้ร่วมมือกับสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด และส่วนราชการในการจัดงานกล้วยไม้ระดับโลกและระดับประเทศ เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความสวยงามของดอกกล้วยไม้ไทยให้ทั้งโลกรู้จักอย่างแพร่หลายในงานสำคัญต่าง ๆ อาทิ งานประชุมวิชาการกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 12  (APOC 12) ปี 2559 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติเมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร งานมหกรรมพืชสวนโลก ปี 2549 และงานราชพฤกษ์รวมใจภักดิ์รักพ่อหลวง ปี 2552 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งกล้วยไม้สกุลหวาย “โสมสวลี” ที่ได้พัฒนาสายพันธุ์ยังมีการนำไปเพาะเลี้ยงในสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Royal Botanic Garden, Kew) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้จากทั่วทุกมุมโลกอีกด้วย

ตกลง