สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย
นายวันนา บุญกลม
อายุ 57 ปี
การศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6
สถานภาพ หม้าย
ที่อยู่ บ้านเลขที่ 105 หมู่ที่ 3 บ้านห้วยไร่ ตำบลห้วยไร่
อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ 37000
โทรศัพท์ 08-5410-8152
อาชีพ เกษตรกร
คุณลักษณะส่วนบุคคล
นายวันนา บุญกลม เกษตรกรวัย 57 ปี เป็นเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์ ทำนาอินทรีย์ผลิตข้าวที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนการใช้สารเคมี สามารถปลดหนี้สินครัวเรือนและสร้างความสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม พื้นที่ทำการเกษตรสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานแก่เกษตรกรที่สนใจ ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชน นายวันนาสามารถรวมกลุ่มเกษตรกร เมื่อปี พ.ศ. 2552 ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ” ขับเคลื่อนดำเนินการผลิตข้าวแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยใช้ความรู้ในการเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว การเตรียมดิน การปลูก การป้องกันกำจัดโรคและศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว และกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและความต้องการของตลาด สร้างกระบวนการรวบรวมผลผลิต ตรวจสอบคุณภาพ การสีข้าวเพื่อแปรรูปจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสารตลอดจนการเก็บรักษา ที่ได้มาตรฐาน โดยบริหารจัดการร่วมกับสภาองค์กรชุมชนและเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ สมาชิกแกนนำของเครือข่ายมีการประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ถอดบทเรียนเพื่อวางแผนระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ การแปรรูป และการตลาดร่วมกัน ทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายภาคีอื่น ๆ สมาชิกกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนฯ มีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะกันทุกปี ทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนและมีอำนาจในการเจรจาต่อรอง ด้วยความเป็นผู้ประพฤติและปฏิบัติตามกฎระเบียบ ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง วินิจฉัย ตัดสิน และแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผล จึงได้รับความเชื่อมั่นจากสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันเครือข่ายฯ มีสมาชิกจำนวน 839 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรอินทรีย์ 24,554 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ 21 ตำบล 96 หมู่บ้าน นายวันนา บุญกลม ดำเนินกิจกรรมการเกษตรในพื้นที่ จำนวน 77 ไร่ ประกอบด้วย ทำนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จำนวน 63 ไร่ สวนมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 8 ไร่ และสวนไผ่ จำนวน 6 ไร่ สามารถสร้างรายได้จากอาชีพการเกษตรและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของตนเองให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด
ผลงานสร้างคุณประโยชน์
นายวันนา บุญกลม เป็นเกษตรกรที่มีองค์ความรู้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ด้านการลดต้นทุนการทำนาข้าวอินทรีย์ ให้มีต้นทุนประมาณไร่ละ 2,600 บาท (ปกติการทำนาทั่วไปมีต้นทุนประมาณ 3,500 - 4,000 บาท/ไร่) และลดต้นทุนการผลิต โดยรวมกลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกันของสมาชิก สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์ได้ประมาณ 400 - 450 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผลผลิตข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยทั่วไปเฉลี่ย 360 กิโลกรัม/ไร่ และกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนฯ ยังรับซื้อข้าวจากสมาชิกกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนฯ ในราคาที่สูงกว่าราคาโรงสีทั่วไปกิโลกรัมละ 2 บาท หรือประมาณตันละ 2,000 บาท/ข้าวเปลือก
กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนฯ ภายใต้การนำของนายวันนาสามารถผลิตข้าวอินทรีย์ได้มาตรฐานผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่หลากหลาย ได้แก่ FAIRRADE, EU, NOP, JAS, CERES และ COFCC สามารถจำหน่ายในตลาดต่างประเทศได้ร้อยละ 90 และจำหน่ายภายในประเทศร้อยละ 10 ทำการส่งออกข้าวเปลือกอินทรีย์และจำหน่ายภายในประเทศ รวมกันมากกว่า 9,800 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 152,234,800 บาทต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่มจากกระบวนการแปรรูปส่งออกและจำหน่ายในประเทศ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 44,197,200 บาทต่อปี สร้างมูลค่าจากการปลูกพืชหลังนามากกว่าปีละ 3,945,600 บาท สร้างกิจกรรมเพื่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชนจำนวน 47 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่า 5,443,000 บาท รวมรายได้ผลผลิตจากการดำเนินงานของกลุ่มฯ ประกอบด้วย ผลผลิตข้าวเปลือกอินทรีย์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์การปลูกพืชหลังนา การจ้างงานในชุมชน มากกว่า 205,820,600 บาทต่อปี ทั้งนี้รายได้จากการจัดสรรผลกำไรของกลุ่มร้อยละ 10 จะนำมาจัดเป็นสวัสดิการแก่สมาชิกและทำประโยชน์แก่สังคม เช่น จัดสรรเป็นทุนการศึกษา ปีละ 90 ทุน เป็นเงิน 150,000 บาท ให้กับบุตรของสมาชิกตั้งแต่ระดับประถมถึงปริญญาตรี สนับสนุนเงินช่วยเหลืองานประเพณีประจำปี ๆ ละ 200,000 บาท สร้างงาน สร้างความเข้มแข็งในชุมชน ทำให้สมาชิกในชุมชนไม่ต้องออกไปขายแรงงานยังต่างถิ่น
กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนฯ ดำเนินงานขับเคลื่อนตามแนวทาง BCG Model เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก สารชีวภัณฑ์ และน้ำหมักชีวภาพ ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยคำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น นำเอาฟางข้าว รำข้าว แกลบ มาทำเป็นอาหารสัตว์ ดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
การขยายผลงาน
นายวันนา บุญกลม ได้ถ่ายทอดผลงานและความรู้อย่างต่อเนื่องผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ภายใต้ชื่อ “ศูนย์เรียนรู้ข้าวอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร” โดยเป็นวิทยากรประจำศูนย์ฯ บรรยายและสาธิตเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด แก่เกษตรกร นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจ ซึ่งมีผู้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ภายในศูนย์เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ต่อปี พร้อมทั้งขยายผลเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ จำนวนมาก อาทิ วารสาร งานวิจัย สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และโซเชียลมีเดีย เช่น YouTube Facebook มีกลุ่มที่นำองค์ความรู้ไปปฏิบัติและขยายผลถ่ายทอด องค์ความรู้ในหลายพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ 21 ตำบล 96 หมู่บ้าน 839 ครัวเรือน ในจังหวัดอำนาจเจริญ มีการจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ชุมชนและได้รับสนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างโรงสีข้าวอินทรีย์ของเครือข่าย อีกทั้งมีการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เช่น กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมโรงสีแห่งประเทศไทย และบริษัทผู้ส่งออกข้าว เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายด้านศักยภาพของสมาชิก ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ แปรรูป การตลาดและระบบการค้าที่เป็นธรรม และยังร่วมกันขับเคลื่อนธรรมนูญประชาชนตนอำนาจเจริญสู่เมืองธรรมเกษตร รวมถึงบูรณาการด้านงบประมาณในการดำเนินงาน